เกษตร-เทคโนโลยี » ผนึกกำลัง TESA กรมศิลป์ มศก. CAT จัดประชันทักษะสมองกลฝังตัว “ระบบจัดการโบราณสถาน 4.0”

ผนึกกำลัง TESA กรมศิลป์ มศก. CAT จัดประชันทักษะสมองกลฝังตัว “ระบบจัดการโบราณสถาน 4.0”

20 ธันวาคม 2018
1548   0

ผนึกกำลัง TESA กรมศิลป์ มศก. และ CAT
จัดประชันทักษะสมองกลฝังตัว “ระบบจัดการโบราณสถานแห่งชาติ 4.0”

วันที่ 18 ธันวาคม 2561 ดร.ศุภชัย วรพจน์พิศุทธิ์ อุปนายกสมาคมสมองกลฝังตัวไทย (TESA) นายสถาพร เที่ยงธรรม ผู้อำนวยการกองโบราณคดี กรมศิลปากร ผศ.ดร.ปาเจรา พัฒนถาบุตร ผู้รักษาการแทนรองอธิการบดี พระราชวังสนามจันทร์ มหาวิทยาลัยศิลปากร และพันเอก สรรพชัย
หุวะนันทน์ กรรมการผู้จัดการใหญ่ บริษัท กสท โทรคมนาคม จำกัด (มหาชน) หรือ CAT ร่วมแถลงข่าวความร่วมมือในการจัดประชันทักษะทางด้านสมองกลฝังตัวชิงแชมป์ประเทศไทย “TESA Top Gun Rally 2019” ณ เรือนรับรองกระจก พระราชวังสนามจันทร์ จังหวัดนครปฐม

สำหรับการแข่งขัน TESA Top Gun Rally จัดขึ้นต่อเนื่องเป็นครั้งที่ 13 โดยกำหนดหัวข้อ “ระบบการจัดการโบราณสถานแห่งชาติ 4.0” (Smart National Historic Site 4.0 : Art & Cultural Conservation & Tourism Information System) ซึ่งจะจัดขึ้นระหว่างวันที่ 6-12 มกราคม 2562 ณ พระราชวังสนามจันทร์ จังหวัดนครปฐม จากความร่วมมือของ 4 หน่วยงาน ที่เล็งเห็นและให้ความสำคัญกับการพัฒนาบุคลากรให้มีความรู้ความสามารถในการสร้างสรรค์นวัตกรรมด้วยการผสานความรู้ด้านสมองกลฝังตัว (Embeded System) เข้ากับเทคโนโลยีดิจิทัล เพื่อสร้างนวัตกรรมในการอนุรักษ์มรดกทางวัฒนธรรมของประเทศได้อย่างมีประสิทธิภาพ


ดร.ศุภชัย วรพจน์พิศุทธิ์  อุปนายกสมาคมสมองกลฝังตัวไทย (TESA) กล่าวถึงภารกิจสำคัญในการร่วมกันสร้างความเข้มแข็งพื้นฐานในด้านเทคโนโลยีของประเทศวันนี้มุ่งไปที่ IoT
“IoT หรือ Internet of Things หมายถึงการนำความอัจฉริยะไปไว้ในทุกสิ่งทุกอย่าง   หัวใจของ Things ต้องใช้สมองกล  ความอัจฉริยะจะดีแค่ไหนล้วนสร้างด้วยคนซึ่งต้องเป็นคนที่มีความสามารถทางเทคโนโลยี  ประเทศไทยต้องสร้างคนเหล่านี้   โดยปีนี้การประชันทักษะสมองกลครั้งที่ 13  อาศัยความร่วมมือจากภาคการศึกษาคือ ม.ศิลปากร  ภาครัฐคือกรมศิลปากร และ CAT ที่มีเทคโนโลยีการสื่อสารสมัยใหม่โดยใช้ LoRaWAN ถ้าไม่มีความร่วมมือไม่มีกิจกรรมนี้ เราจะไม่มีนักศึกษาที่เก่งเติบโตเป็นกำลังสำคัญของประเทศ”
TESA Top Gun Rally นับเป็นเวทีสำหรับการค้นหาสุดยอดฝีมือทางด้านระบบสมองกลฝังตัวของประเทศไทยที่จัดขึ้นอย่างต่อเนื่อง  ซึ่งผู้ที่มีโอกาสได้เป็นตัวแทนของแต่ละสถาบันการศึกษาเพื่อเข้าร่วมประชันทักษะ จะผ่านการคัดเลือก ทดสอบ และสัมภาษณ์จากคณะกรรมการของแต่ละสถาบันมาเป็นอย่างดี ทั้งทางด้านวิชาการ ทัศนคติและสังคม สำหรับรูปแบบของการดำเนินแข่งขันในโครงการจะจัดต่อเนื่องเป็นระยะเวลา 1 สัปดาห์
สำหรับ TESA Top Gun Rally 2019 มีนิสิต นักศึกษา และนักเรียน ซึ่งจะเป็นนักพัฒนาผู้เป็นอนาคตของประเทศและคณาจารย์ในวงการ Embeded System and IoT ของประเทศไทยกว่า 300 คนจากสถาบันการศึกษาและหน่วยงานต่างๆ ทั่วประเทศกว่า 30 แห่ง เข้ามารวมตัวกันสร้างสรรค์และพัฒนาระบบการจัดการโบราณสถานแห่งชาติ 4.0   อาทิ มหาวิทยาลัยเกษตรศาสตร์ สถาบันเทคโนโลยีพระจอมเกล้าเจ้าคุณทหารลาดกระบัง มหาวิทยาลัยเทคโนโลยีพระจอมเกล้าธนบุรี มหาวิทยาลัยเทคโนโลยีพระจอมเกล้าพระนครเหนือ มหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์ จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย มหาวิทยาลัยบูรพา มหาวิทยาลัยขอนแก่น มหาวิทยาลัยสงขลานครินทร์ มหาวิทยาลัยเชียงใหม่ มหาวิทยาลัยวลัยลักษณ์ มหาวิทยาลัยมหิดล มหาวิทยาลัยนเรศวร มหาวิทยาลัยแม่ฟ้าหลวง มหาวิทยาลัยศิลปากร เครือข่ายมหาวิทยาลัยเทคโนโลยีราชมงคล มหาวิทยาลัยอุบลราชธานี มหาวิทยาลัยมหาสารคาม มหาวิทยาลัยพะเยา มหาวิทยาลัยเทคโนโลยีสุรนารี มหาวิทยาลัยศรีนครินทรวิโรฒ สถาบันเทคโนโลยีไทย-ญี่ปุ่น มหาวิทยาลัยเทคโนโลยีมหานคร มหาวิทยาลัยศรีปทุม มหาวิทยาลัยธุรกิจบัณฑิตย์ มหาวิทยาลัยสยาม เครือข่ายมหาวิทยาลัยราชภัฏ สถาบันอาชีวศึกษา วิทยาลัยเทคนิค (นำร่อง) และโรงเรียนมัธยมจุฬาภรณ์ (นำร่อง)
ในการแข่งขันครั้งนี้ นิสิต นักศึกษา และนักเรียนที่เข้าร่วมจะได้เรียนรู้องค์ความรู้และเทคโนโลยีของระบบสมองกลฝังตัวจากผู้เชี่ยวชาญในสาขาต่างๆ อาทิ การบริหารโครงการ การสร้างระบบฮาร์ดแวร์ ARTBox ที่ใช้ในการตรวจจับค่าต่าง ๆ ตามที่กำหนด การส่งข้อมูลผ่านเครือข่ายสื่อสารไร้สาย LoRaWAN (Long Range Wide Area Network) ที่มีคุณสมบัติในการรับส่งสัญญาณได้ในระยะไกลโดยใช้พลังงานต่ำ ซึ่งจะมีการติดตั้งชุดอุปกรณ์ LoRa IoT by CAT เพื่อระบุตำแหน่ง  การโปรแกรมระบบเซิร์ฟเวอร์และประมวลผลข้อมูลบนระบบ IRIS ClOUD เพื่อแจ้งเตือนไปยังเจ้าหน้าที่ นอกจากนี้ยังจะได้รับประสบการณ์เกี่ยวกับการพัฒนา แก้ไขปัญหาที่กำหนดในแต่ละวันบนหลักการของ Problem-Based Learning รวมถึงได้รับความรู้เกี่ยวกับการอนุรักษ์และการจัดการโบราณสถานอีกด้วย  โดยในระหว่างการเข้าร่วมแข่งขันจะมีคณะกรรมการประเมินคะแนนสะสมตามหัวข้อและเกณฑ์ที่กำหนด ทีมที่มีคะแนนสะสมสูงสุด 4 ลำดับแรกจะได้รับรางวัลเงินสดรวมมูลค่ากว่า 100,000 บาทพร้อมโล่รางวัล  รวมถึงโอกาสการต่อยอดพัฒนาผลงานสู่การใช้งานจริงเพื่อสนับสนุนงานอนุรักษ์โบราณสถานของกรมศิลปากร

นายสถาพร เที่ยงธรรม  ผู้อำนวยการกองโบราณคดี กรมศิลปากร  กล่าวว่าปัจจุบันกรมศิลปากรได้ใช้เทคโนโลยีกับงานโบราณคดีหลายด้าน เช่น การสำรวจพื้นที่ทางอากาศด้วยโดรน  การวิเคราะห์โบราณวัตถุที่ขุดพบด้วยแสงซิงโครตรอน  การพัฒนาระบบสืบค้นข้อมูลสำหรับพิพิธภัณฑ์โบราณสถานแห่งชาติ   “กรมศิลปากรมีเป้าหมายที่จะใช้เทคโนโลยีเกิดประโยชน์กับงานเต็มที่ตามแนวทางไทยแลนด์ 4.0  โดยในการอนุรักษ์โบราณสถานโดยเฉพาะพระราชวังสนามจันทร์ที่เป็นอาคารไม้นั้นเป็นเรื่องละเอียดอ่อนและยังต้องการเทคโนโลยีที่จะมาช่วย  เช่น การวิเคราะห์เรื่องการรับน้ำหนักนักท่องเที่ยวที่มาพร้อม ๆ กัน   ผลกระทบจากการจุดพลุในโอกาสต่าง ๆ  การตรวจจับแมลงเช่นปลวก เพื่อตรวจตราและปกป้องจากความเสียหายที่จะเกิดขึ้นได้ทันการณ์   ผมเชื่อมั่นว่ากิจกรรม TESA โบราณสถาน 4.0 จะเกิดประโยชน์อย่างยิ่ง   การระดมความรู้ การคิดแก้ไขตอบโจทย์จะสามารถจุดประกายเพื่อทางกรมฯ จะสามารถนำไปต่อยอดในการใช้งานจริงได้ต่อไป”

ผศ.ดร.ปาเจรา พัฒนถาบุตร  ผู้รักษาการแทนรองอธิการบดี พระราชวังสนามจันทร์ มหาวิทยาลัยศิลปากร กล่าวว่า “ม.ศิลปากร มีความแข็งแกร่งคือเรื่องศิลปะและการออกแบบ เราพร้อมที่จะนำเทคโนโลยีผสมผสานกับจุดแข็งนี้ โดยเปิดโจทย์ให้เด็กได้คิดวิเคราะห์เกี่ยวกับการอนุรักษ์โดยเชื่อมโยงสองโบราณสถานสำคัญของจังหวัดนครปฐมทั้งพระปฐมเจดีย์ และพระราชวังสนามจันทร์ ที่เป็นพระตำหนักไม้เก่าแก่อายุกว่า 111 ปี หวังว่ากิจกรรมครั้งนี้จะจุดประกายการพัฒนาสมองกลในแนวทางที่ช่วยอนุรักษ์การท่องเที่ยวโบราณสถาน เช่น การใช้เทคโนโลยีเชื่อมโยงเพื่อความสะดวกในการให้ข้อมูลความรู้ หรือการติดต่อกับนักท่องเที่ยวผ่านมือถือ”

พันเอก สรรพชัย หุวะนันทน์   กรรมการผู้จัดการใหญ่ บมจ. กสท โทรคมนาคม (CAT) กล่าวถึงความร่วมมือของ CAT กับ TESA  ในปีนี้กับโจทย์โบราณสถานแห่งชาติ 4.0  ว่า  “CAT สามารถนำเทคโนโลยีมาตอบโจทย์สนับสนุนการพัฒนา IoT ในทุกๆภาคส่วนโดยเราวางโครงสร้างพื้นฐาน IoT LoRaWAN เพื่อรองรับการเชื่อมสัญญาณและระบบ IRIS Cloud เพื่อการจัดเก็บข้อมูลที่มีประสิทธิภาพ เราอยากเห็นภาพนักท่องเที่ยวสามารถเดินเที่ยวพร้อมกับใช้โทรศัพท์มือถือช่วยเพิ่มความสะดวกได้ เช่น รู้จุดได้ทันทีว่ามีอะไรอยู่ตรงไหนจากโลเคชันเบส หรือใช้แอปพลิเคชันส่องไปที่โบราณวัตถุแล้วสามารถเชื่อมต่อกับ VR หรือ AR ทำให้เห็นภาพย้อนไปในยุคสมัยต่างๆ   ซึ่ง CAT พร้อมสนับสนุนเทคโนโลยีที่จะเป็นส่วนหนึ่งของกิจกรรมในครั้งนี้และในอนาคตอย่างต่อเนื่อง  เพื่อให้เกิดการต่อยอดของเทคโนโลยีและพัฒนาบุคลากร สามารถป้อนนวัตกรรมเข้าสู่ระบบการใช้งานจริงในทุกภาคส่วนและสร้างความเข้มแข็งให้ประเทศได้”


ทั้งนี้ การจัดการแข่งขันในครั้งนี้ นอกจากจะได้รับความรู้และทักษะในด้านสมองกลฝังตัวแล้ว  คุณค่าและความสวยงามของการเข้าร่วมแข่งขัน TESA TOP GUN Rally อีกประการหนึ่งที่ผู้เข้าร่วมการแข่งขันจะได้รับก็คือการแลกเปลี่ยนเรียนรู้จากวิทยากรและระหว่างผู้เข้าแข่งขันจากต่างสถาบันด้วยความสุภาพ อ่อนน้อมถ่อมตน เอื้อเฟื้อ โอบอ้อมอารีต่อกัน แต่จะไม่ยอมแพ้ต่อปัญหาและอุปสรรค

ติดตามการแข่งขัน TESA TOP GUN Rally 2019 ได้ที่เฟซบุ๊กแฟนเพจ TESA Top Gun Rally

#อื่นๆอีกมากมายท้าทายให้สัมผัส
#สื่อสร้างสรรค์เพื่อการท่องเที่ยว
#smartnews.online
#missionthailand.online
#tiewihaietc.com
#tourismnewsthailand