“นฤมล” นำทีมไทยแลนด์หารือ ผู้บริหาร บ. SVOLT Energy Technology บ.ผลิตแบตเตอรี่สำหรับยานยนต์ไฟฟ้า คาดปี 68-69 ขยายการลงทุนในไทย มูลค่าเกือบสองหมื่นล้านบาท
วันนี้ (20 พฤษภาคม 2567) ณ สำนักงานใหญ่ SVOLT เมืองฉางโจว มณฑลเจียงซู สาธารณรัฐประชาชนจีน ศาสตราจารย์ นฤมล ภิญโญสินวัฒน์ ผู้แทนการค้าไทยนำทีมไทยแลนด์พบหารือกับนาย Yang Hongxin ประธานเจ้าหน้าที่บริหารบริษัท SVOLT Energy Technology
ผู้แทนการเปิดเผยว่า บริษัท SVOLT Energy Technology ผลิตแบตเตอรี่สำหรับยานยนต์ไฟฟ้า มูลค่าเงินลงทุนในประเทศไทยกว่า 1,200 ล้านบาท โดยผลิตชุดแบตเตอรี่สำหรับยานพาหนะไฟฟ้า ปีละประมาณ 49,000 ชิ้น (หรือประมาณ 1.44 GWh) ซึ่งเป็นการลงทุนผลิตชุดแบตเตอรี่สำหรับรถยนต์ไฟฟ้าภายใต้โครงการผลิตรถยนต์ไฟฟ้าของบริษัท เกรท วอลล์ มอเตอร์ แมนูแฟคเจอริ่ง (ประเทศไทย) จำกัด โดยมีขั้นตอนการผลิตเริ่มจากการนำเข้า CELL มาจาก SVOLT Energy Technology Co., Ltd. ประเทศจีน นำมาทำความสะอาด ตรวจสอบ จัดเรียง และประกอบได้เป็น Module จากนั้น นำไปประกอบกับชิ้นส่วนอื่นๆ ได้เป็นชุดแบตเตอรี่ (Battery Pack) โดยจะลงทุนทั้งหมด 3 สายการผลิต แบ่งเป็นสายการผลิตสำหรับ HEV Battery, PHEV Battery และ BEV Battery ผลิตภัณฑ์ตามโครงการจะจำหน่ายในประเทศร้อยละ 80 ให้แก่ เกรท วอลล์ มอเตอร์ แมนูแฟคเจอริ่ง (ประเทศไทย) จำกัด และส่งออกทางอ้อมร้อยละ 20 ให้แก่ Haval Motors Australia (Pty) Ltd. และ Haval Motors South Africa (Pty) Ltd.
ผู้แทนการค้า กล่าวถึงแผนการลงทุนของบริษัทฯ ช่วงเดือนกุมภาพันธ์ 2567 ที่ผ่านมา บริษัทได้ลงนามในข้อตกลง (MOU) กับบริษัทบ้านปูเน็กซ์ ซึ่งจะถือหุ้นร้อยละ 40 เพื่อศึกษาความเป็นไปได้ในโครงการลงทุนเฟสที่ 2 ในไทย โดยแบ่งเป็น เฟส 2.1 โครงการประกอบ ESS และเฟสที่ 2.2 โครงการผลิตแบตเตอรี่เซลล์ กำลังการผลิต 8 GWH เพื่อส่งออกไปตลาดสหรัฐฯ และยุโรป คาดว่าการศึกษาจะเสร็จสิ้นในพฤษภาคม 2567 และจะเริ่มดำเนินการตามแผนหากผลการศึกษาเป็นบวก ซึ่งน่าจะแล้วเสร็จในห้วงปี 2568-2569 ทั้งนี้ ในเบื้องต้น บริษัทต้องการหาที่ดินขนาด 187.5 ไร่ (30 HA) มูลค่าการลงทุนรวม 18,878 ล้านบาท โดยจะลงทุนด้วยตนเองร้อยละ 30-40 กู้ยืมร้อยละ 40 และอีกร้อยละ 20-30 คาดว่าได้รับการสนับสนุนเงินอุดหนุนจากบีโอไอจากกองทุนเพิ่มขีด
สำหรับการลงทุนเฟสที่ 2 ระยะแรกจะร่วมมือกับบริษัทบ้านปูเน็กซ์เพื่อผลิต ESS สำหรับที่อยู่อาศัยและสาธารณูปโภค ให้ครอบคลุมตลาดในภูมิภาค เช่น อินโดนีเซีย เวียดนาม ออสเตรเลีย ในระยะต่อไป จะเป็นการผลิตแบตเตอรี่เซลล์ ซึ่งจำเป็นต้องจัดหาที่ดินไม่จำเป็นต้องใกล้เคียงกับที่เดิม โดยคาดว่าจะมีสายการผลิต 4 สาย กำลังการผลิต 8 GWH แต่อาจปรับเปลี่ยนได้ตามคำสั่งซื้อจากลูกค้า คาดว่าจะเริ่มการผลิตได้ในปี 2568 ซึ่งบริษัทบ้านปูเน็กซ์อาจสร้างโรงงานผลิตไฟฟ้าสำหรับโครงการนี้ด้วย เพราะต้องใช้กำลังไฟฟ้าประมาณ 70 MW นอกจากนั้น บริษัทยังมีความร่วมมือกับ SUPPLIER เช่น FOXCONN และบริษัทที่มีเทคโนโลยีด้านรีไซเคิล และมีแผนที่จะเชิญกลุ่ม SUPPLIER มาลงทุนในไทยด้วย
ผูัแทนการค้า ย้ำและให้ความมั่นใจกับ บริษัทฯ ว่า นายเศรษฐา ทวีสิน นายกรัฐมนตรี และรัฐบาลไทยให้การสนับสนุนและเดินหน้าพัฒนาอุตสาหกรรมยานยนต์ไฟฟ้า (EV) ร่วมกับการดูแลอุตสาหกรรมยานยนต์สันดาป โดยประเทศไทยพร้อมเป็นศูนย์กลางของอุตสาหกรรม EV และพลังงานสีเขียว ซึ่งประเทศไทยมีแนวทางที่จะส่งเสริมการผลิตและการใช้งานแบตเตอรี่อย่างชัดเจน พร้อมยืนยันว่ารัฐบาลยินดีสนับสนุนและอำนวยความสะดวกให้แก่นักลงทุนต่างชาติ โดยเฉพาะอย่างยิ่งจากประเทศจีน ให้เข้ามาลงทุนในภาคอุตสาหกรรมพลังงานหมุนเวียน โดยหวังว่าบริษัทฯ จะทำการขยายการลงทุนเพิ่มเติมในการตั้งศูนย์การผลิตและบำรุงรักษาของภูมิภาคและศูนย์วิจัยและพัฒนา โดยให้บริษัทฯ ยื่นขอรับการส่งเสริมการลงทุน จำนวน 2 โครงการ ได้แก่ 1. โครงการผลิตระบบกักเก็บพลังงาน(Energy Storage System: ESS) ซึ่งจะเป็นประโยชน์กับที่อยู่อาศัยและระบบสาธารณูปโภค และ 2.โครงการผลิต Battery Cell โดย BOI ยินดีที่จะอำนวยความสะดวกในการยื่นขอรับการส่งเสริมการลงทุนดังกล่าว