“ดร.วันวร จะนู” ผู้เชี่ยวชาญพิเศษอาวุโสมหาวิทยาลัยธุรกิจบัณฑิตย์ (DPU) ชวนทำความรู้จัก “คอร์ฟบอล” กีฬาที่สร้างความเท่าเทียมทางเพศพร้อมกับ “ทักษะแห่งโลกอนาคต” อย่าง Empathy

 “ดร.วันวร จะนู” ผู้เชี่ยวชาญพิเศษอาวุโสมหาวิทยาลัยธุรกิจบัณฑิตย์ (DPU) ชวนทำความรู้จัก “คอร์ฟบอล” กีฬาที่สร้างความเท่าเทียมทางเพศพร้อมกับ “ทักษะแห่งโลกอนาคต” อย่าง Empathy

 

 

ผศ.ดร.วันวร จะนู ผู้เชี่ยวชาญพิเศษอาวุโสมหาวิทยาลัยธุรกิจบัณฑิตย์ (DPU) กล่าวว่า กีฬา “คอร์ฟบอล” หรือ “Korfball” เป็นกีฬาแห่งความเท่าเทียมนั้นไม่ใช่เรื่องบังเอิญที่เกิดขึ้น หากแต่เกิดจากคิดตั้งแต่แรก โดยถูกคิดค้นโดย Nico Broekhuysen ซึ่งเป็นครูโรงเรียนชาวดัตช์ในปี 1902 หลังจากเขาถูกส่งตัวไปประเทศสวีเดนเพื่อเข้าเรียนหลักสูตรการศึกษาเกี่ยวกับการสอนยิมนาสติก ทำให้เขาได้รู้จักกับเกมริงบอลล์ (Ringboll) เกมกีฬาที่สามารถทำคะแนนได้โดยการขว้างบอลผ่านวงแหวนที่ติดกับเสา 3 ม. ขณะที่ผู้เล่นมีทั้งผู้ชายและผู้หญิงเล่นด้วยกันในสนามที่ถูกแบ่งออกเป็น 3โซน โดยที่ผู้เล่นไม่สามารถออกจากโซนของตนเองได้

 

 

หลังกลับจากการร่ำเรียนมาได้นำแนวคิดดังกล่าวมาดัดแปลงและสอนแก่นักเรียน โดยทำการดัดแปลงประตูเป็นตะกร้า (ตะกร้าภาษาดัตช์คือ Korf) จนเป็นที่มาของชื่อกีฬาชนิดนี้ และยังได้ปรับปรุงกฎกติกาเพื่อเอื้อต่อการเล่นที่ง่ายของเด็กๆ พร้อมกับแสดงถึงความเท่าเทียมเพศและสรีระ ได้แก่ 1.ผู้เล่นประกอบด้วยผู้เล่นทั้งหมด 8 คน และแบ่งฝั่งเป็นเท่ากันคือ ผู้หญิง 2 คนและผู้ชาย 2 คน โดยแบ่งกันเป็นฝ่ายรุก-รับ หากทีมบุกมีแต้มเกิดขึ้น 2 คะแนนจึงจะเปลี่ยนสลับฝั่ง 2.ผู้เล่นสามารถยืนอยู่ได้แค่เขตแดนของตัวเองและใช้วิธีการเล่นจากการส่งบอล ไม่สามารถส่งบอลมือต่อมือ ห้ามตีบอลไปข้างหน้าหรือใช้ร่างกายส่วนอื่นๆ กระทบลูกบอล 3.การป้องกันและสกัดกั้นผู้เล่นต้องเป็นเพศเดียวกันเท่านั้น ฯลฯ

 

นอกจากนี้ ยังมีวิธีการเล่นที่ป้องกันการได้หรือเสียเปรียบทางกายภาพ คือ 1.เมื่อผู้เล่นทีมรับยกมือป้องกันและใบหน้าของผู้เล่นฝ่ายรับหันหน้ามองตรงไปยังผู้เล่นฝ่ายรุก ในระยะประมาณ 1 ช่วงแขน ผู้เล่นฝ่ายรุกไม่สามารถยิงประตูต่อหน้าผู้เล่นฝ่ายรับได้ทันที จำต้องถอยออก 2.การยืนขณะเมื่อผู้เล่นฝ่ายรุกได้ส่งบอลเข้าเล่นหรือยิงจุดโทษ ผู้เล่นฝ่ายรุกต้องยืนห่างกันประมาณ 2.5 เมตร ฯลฯ

 

“กฎกติกาบางส่วนที่ยกตัวอย่าง ป้องกันไม่ให้ความแข็งแกร่งทางกายภาพเกิดความได้เปรียบ และในขณะเดียวกันจำกัดความเสียเปรียบด้านความสูงของผู้เล่น ทำให้ไม่เกิดความได้เปรียบหรือเสียเปรียบในเกม มันเลยถูกยกย่องว่าเป็นกีฬาที่สร้างสรรค์ให้ผู้หญิงและผู้ชายเกิดการทำงานร่วมกันเป็นทีม เกิดการร่วมกันคิดยุทธศาสตร์และเกิดความเท่าเทียมทางเพศ”

 

“ซึ่งแตกต่างจากกีฬาประเภทอื่นๆ เช่น เทนนิสในประเภทคู่ผสม หากผู้ชายเก่งมากๆ สามารถเล่นคนเดียวได้ และก็ตีลูกไปที่ผู้หญิง มันก็เป็นการสร้างความได้เปรียบทางเพศสภาพ หรือ บาสเกตบอล ไม่ว่าทีมชายหรือทีมหญิงผู้เล่นฝั่งละ 5 คนเท่ากัน แต่หากใครที่สูงกว่า คนๆ นั้นคนเดียวสามารถที่จะสู้กับคน 3 คนได้ นับเป็นความได้เปรียบทางกายภาพ”

 

ด้วยเหตุนี้ปัจจุบันจึงเกิดกีฬาคอร์ฟบอลหลากหลายประเภท เช่น คอร์ฟบอล 4 คน 1 เสาประตู คอร์ฟบอล 4 คน 2 เสาประตู คอร์ฟบอล 8 และบีชคอร์ฟบอล และเกิดการแข่งขันทั้งในเกมระดับโลก อย่าง โอลิมปิกเกมส์ รวมไปถึงการแข่งขันในระดับทวีปหรือสโมสร ท่ามกลางสมาคมกีฬาคอร์ฟบอลแห่งประเทศกว่า70 ชาติทั่วโลกให้การยอมรับ

 

 

ผศ.ดร.วันวร เล่าต่อด้วยรอยยิ้มว่า สำหรับประเทศไทยกีฬา ‘คอร์ฟบอล’ เริ่มเป็นที่รู้จักจากครั้งแรกในปี 2559 โดยนักศึกษาแลกเปลี่ยนชาวญี่ปุ่นคณะพลศึกษา มหาวิทยาลัยศรีนครินทรวิโรฒ ภายหลัง “รศ.ดร.สุปราณี ขวัญบุญจันทร์” ซึ่งได้ดำรงตำแหน่งคณบดีคณะพลศึกษาขณะนั้นได้ให้ความสนใจกีฬานี้เป็นอย่างมาก และได้จัดตั้งชมรมกีฬาคอร์ฟบอลในประเทศไทยขึ้นในเดือน ม.ค. 2560

 

ด้วยความที่เล่นง่ายบวกกับการสนับสนุนและผลักดันอย่างเต็มที่จากสมาคมกีฬาคอร์ฟบอลแห่งประเทศไทย คอร์ฟบอลจึงได้แพร่หลายอย่างรวดเร็วทั้งในสถานศึกษาระดับมัธยมศึกษาและอุดมศึกษา รวมไปจนถึงประชาชนคนไทยทั่วไป นอกจากนี้ยังได้รับการประกาศเป็นชนิดกีฬาใหม่ในประเทศไทยลำดับที่ 78 และได้รับรองการจดทะเบียนสมาคมกีฬาคอร์ฟบอลไทย (คบท.) หรือ Thailand Korfball Association (TKA) อย่างเป็นทางการ เมื่อวันที่ 29 ก.ย. 2560 จนได้รับคำกล่าวยกย่องจากสหพันธ์กีฬาคอร์ฟบอลนานาชาติ (International Korfball Federation : IKF) ว่าประเทศไทยมีการสนับสนุนและพัฒนากีฬาคอร์ฟบอลไปสู่วางกว้างได้อย่างรวดเร็วเป็นอันดับต้นๆของโลก และได้มอบรางวัลสมาคมพัฒนากีฬาคอร์บอลดีเด่น Best Grassroots Development ในฐานะสมาคมที่มีการพัฒนาในระดับพื้นฐานที่ดีที่สุด

 

ส่วนในด้านของการจัดการแข่งขันชิงแชมป์คอร์ฟบอลแห่งประเทศไทย เริ่มขึ้นในปี 2561 และในการแข่งขันกีฬามหาวิทยาลัยแห่งประเทศไทยครั้งที่ 48 ปี 2566 จึงได้บรรจุเป็นกีฬาสาธิต

“สำหรับมหาวิทยาลัยธุรกิจบัณฑิตย์ หรือ DPU ได้เข้าร่วมรายการแข่งขันชิงแชมป์คอร์ฟบอลแห่งประเทศไทยครั้งที่ 5 ปี พ.ศ.2566 เราก็ได้รางวัลรองชนะเลิศ ส่วนการแข่งขันกีฬามหาวิทยาลัยแห่งประเทศไทยครั้งที่ 49 ปีนี้ ‘นนทรีเกมส์’ เป็นปีแรกที่เราส่งเข้าร่วมการแข่งขัน และเราได้รางวัลรองชนะเลิศในคอร์ฟบอลชายหาด และรางวัลรองชนะเลิศอันดับสองในคอร์ฟบอล 8 คน”

ผศ.ดร.วันวร เผยว่าได้ขับเคลื่อนกีฬาคอร์ฟบอลทันทีที่ศึกษากติกาแล้วทราบถึงประเด็นความสำคัญดังกล่าวเนื่องจากมหาวิทยาลัยเป็นสถาบันการศึกษาแห่งแรกๆ ของประเทศไทยที่ให้ความสำคัญและการสนับสนุน ‘ความเท่าเทียมทางเพศ’ และ “ความหลากหลายทางเพศ” เช่น การสนับสนุนและให้เกียรตินักศึกษาเพศที่ 3 ที่มีความสามารถในการประกวด Miss Queen การให้สิทธิและเสรีภาพในการแต่งกายเข้ารับปริญญาตามเพศสภาพที่นักศึกษาต้องการ ฯล

ผศ.ดร.วันวร ระบุว่า หลังกีฬามหาวิทยาลัยแห่งประเทศไทย ครั้งที่ 49 ได้เตรียมการเรื่องสนับสนุนไว้ให้กับนักศึกษารวมถึงบุคลากรที่สนใจ เพราะนอกจากไม่เพียงที่จะส่งเสริมเรื่องของความเท่าเทียมทางเพศให้เกิดขึ้นแก่สังคม กีฬานี้ยังเป็นกิจกรรมทางกายภาพ ซึ่งช่วยในเรื่องของสุขภาพร่างกายที่เหมาะกับทุกเพศทุกวัย เพราะอวัยวะทุกส่วนได้ขยับเคลื่อนจากทักษะหลักๆ ที่ใช้ในการรับ-ส่งบอล และโอกาสในการบาดเจ็บยังแทบเป็นศูนย์จากผู้ที่ป้องกันเป็นเพศเดียวกัน การหลีกเลี่ยงการเข้าปะทะ และการเว้นระยะห่างระหว่างสองฝ่ายตามกติกา

ที่สำคัญคือ ผู้เล่นยังได้พัฒนาและฝึกฝนทักษะ ‘Soft-Skills’ ซึ่งเป็นทักษะที่ช่วยในการพัฒนาตนเองและสังคม ในเรื่องของ จริยธรรม คุณธรรม ความสัมพันธ์ต่างๆ อย่าง Analytical Thinking การคิดวิเคราะห์สิ่งต่างๆ อย่างเป็นระบบ และ Empathy การเข้าใจคนอื่น การเอาใจเขามาใส่ใจเรา เพราะต้องคอยคิด คอยมองและสังเกตเพื่อหาวิธีในการคิดทำแต้ม ทำให้กระบวนการนี้สามารถพัฒนาลึกซึ้งในระดับความคิดในไลฟ์สไตล์การใช้ชีวิต ที่พิเศษกว่ากีฬาชนิดอื่นๆ ที่ทั่วไปจะพัฒนาในเรื่อง Soft Skills พวกเรื่องจริยธรรม คุณธรรมและการอยู่ในความสัมพันธ์กับผู้คนและสังคมอยู่แล้ว

“ทีนี้หลังการแข่งขันกีฬามหาวิทยาลัยแห่งประเทศไทย ครั้งที่ 49 นี้ เราก็ให้ความสำคัญและมุ่งผลักดันสำหรับนักศึกษาที่สนใจ เพราะหลังจากผมได้บอกถึงความสำคัญระดับคอนเซ็ปต์ในกีฬาที่ตนเล่น ทุกคนเกิดความภาคภูมิใจและทำให้เกิดการพัฒนาด้านความรู้สึกและแรงจูงใจเพิ่มมากขึ้น”

“ตอนนี้เรากำลังเผยแพร่และรอเสียงตอบรับจากนักศึกษาและสโมสรนักศึกษา หากสนใจเราผลักดันได้ในทันทีในมหกรรมการแข่งขันกีฬา DPU GAME เพราะเราเริ่มเป็นที่รู้จักของทางสมาคมฯ และสมาคมเองพร้อมสนับสนุนเต็มที่อย่างที่บอกข้างต้น เราสามารถประสานขออุปกรณ์ ผู้เชี่ยวชาญในการสอน กรรมการเพื่อจัดการแข่งขัน ทั้งการแข่งขันกีฬาเพื่อสุขภาพ และพัฒนาเพื่อความเป็นเลิศของทางมหาวิทยาลัย”

#วันวรจะนู #ผู้เชี่ยวชาญพิเศษอาวุโสมหาวิทยาลัยธุรกิจบัณฑิตย์ #มหาวิทยาลัยธุรกิจบัณฑิตย์ #DPU #คอร์ฟบอล #Korfball #กีฬาแห่งความเท่าเทียม #ข่าวการศึกษา #ข่าวกีฬา #SmartNews

ใส่ความเห็น

อีเมลของคุณจะไม่แสดงให้คนอื่นเห็น ช่องข้อมูลจำเป็นถูกทำเครื่องหมาย *

Next Post

แพตตี้-ปภังกร เหล็กร้อน นำร่วมรอบสอง กอล์ฟ“ฮอนด้า แอลพีจีเอ ไทยแลนด์ 2024”

แพตตี้-ปภังกร เหล็กร้อน นำร่วมรอบสอง กอล์ฟ“ฮอนด้า […]

You May Like

Subscribe US Now