“กก.- วธ. – มท.” ผนึกกำลัง จัดใหญ่! “Maha Songkran World Water Festival 2024 เย็นทั่วหล้า มหาสงกรานต์ 2567” ดัน “Soft Power” สงกรานต์ประเทศไทย ติด 1 ใน 10 เฟสติวัลของโลก

“กก.- วธ. – มท.” ผนึกกำลัง จัดใหญ่! “Maha Songkran World Water Festival 2024 เย็นทั่วหล้า มหาสงกรานต์ 2567” ดัน “Soft Power” สงกรานต์ประเทศไทย ติด 1 ใน 10 เฟสติวัลของโลก

 

 

วันที่ 12 มี.ค. 2567 ที่อาคารการท่องเที่ยวแห่งประเทศไทย ( ททท.) ถนนเพชรบุรีตัดใหม่ กระทรวงการท่องเที่ยวและกีฬา กระทรวงวัฒนธรรม และกระทรวงมหาดไทย ร่วมแถลงข่าวงาน “Maha Songkran World Water Festival 2024 เย็นทั่วหล้า มหาสงกรานต์ 2567” ที่จะมีขึ้นบริเวณถนนราชดำเนินกลาง และท้องสนามหลวง ระหว่างวันที่ 11 – 15 เมษายน 2567

 

 

โดยมีนางสาวสุดาวรรณ หวังศุภกิจโกศล รัฐมนตรีว่าการกระทรวงการท่องเที่ยวและกีฬา นายเสริมศักดิ์ พงษ์พานิช รัฐมนตรีว่าการกระทรวงวัฒนธรรม และนายเกรียง กัลป์ตินันท์ รัฐมนตรีช่วยว่าการกระทรวงมหาดไทย พร้อมด้วย นางสาวฐาปนีย์ เกียรติไพบูลย์ ผู้ว่าการการท่องเที่ยวแห่งประเทศไทย (ททท.) เป็นประธาน

 

นางสาวสุดาวรรณ กล่าวว่า การจัดงานครั้งนี้เป็นการเริ่มต้นของการปฏิบัติให้เห็นเป็นรูปธรรมในการผลักดันเทศกาลสงกรานต์ไทยสู่เทศกาลระดับโลก ตามนโยบายของรัฐบาลและนายเศรษฐา ทวีสิน นายกรัฐมนตรีและรัฐมนตรีว่าการกระทรวงการคลัง โดยเป็นการทำงานร่วมกันทั้งภาครัฐและภาคเอกชน ภายใต้คณะกรรมการซอฟต์พาวเวอร์ที่มี น.ส.แพทองธาร ชินวัตร ประธานกรรมการพัฒนาซอฟต์พาวเวอร์แห่งชาติที่ ต้องการสร้างความแปลกใหม่ของขบวนพาเหรดที่สะท้อนวัฒนธรรมของไทย กระทรวงการท่องเที่ยวและกีฬา โดยการท่องเที่ยวแห่งประเทศไทย จึงได้กำหนดจัดงาน Maha Songkran World Water Festival 2024 เย็นทั่วหล้า มหาสงกรานต์ 2567 อย่างยิ่งใหญ่ และวิจิตรตระการตา ในวันที่ 11-15 เมษายน 2567 ณ บริเวณถนนราชดำเนินกลางและพื้นที่ท้องสนามหลวง กรุงเทพมหานคร โดยนำเสนอภาพลักษณ์ความสวยงามของประเพณีสงกรานต์ไทยด้วยขบวนรถพาเหรดมหาสงกรานต์กว่า 20 ขบวน พร้อมด้วยการแสดงศิลปวัฒนธรรมจากนักแสดงและผู้ร่วมขบวนแห่กว่าพันคน เคลื่อนจากถนนราชดำเนินกลางสู่ท้องสนามหลวง พร้อมกิจกรรมนำเสนอศิลปวัฒนธรรมประเพณี และ Soft Power หลากหลายสาขาบริเวณท้องสนามหลวง ซึ่งจะทำให้สงกรานต์เป็นเทศกาลที่จะอยู่ในความทรงจำและสร้างความประทับใจให้กับประชาชนชาวไทยและชาวต่างชาติจากทั่วโลกที่ได้ร่วมเป็นส่วนหนึ่งในการร่วมเฉลิมฉลองประเพณีที่ยิ่งใหญ่และทรงคุณค่าของชาวไทย

 

 

เช่นเดียวกับนางสาวฐาปนีย์ กล่าวว่า การจัดงาน Maha Songkran World Water Festival 2024 เย็นทั่วหล้า มหาสงกรานต์ 2567 ในครั้งนี้ จะเป็นการประกาศให้ทั่วโลกรับรู้ถึงวัฒนธรรมประเพณีอันทรงคุณค่าของประเทศไทย โดยนอกจากการจัดงานภายในประเทศอย่างยิ่งใหญ่แล้ว ททท. เตรียมประชาสัมพันธ์ภาพลักษณ์ความสวยงามของวัฒนธรรมประเพณีไทยไปสู่สายตาชาวต่างชาติทั่วโลก โดยได้ร่วมกับพันธมิตรสื่อมวลชนระดับโลก CNN และ BBC ในการนำเสนอคอนเท้นต์เทศกาลสงกรานต์ของประเทศไทยผ่านสื่อประชาสัมพันธ์หลากหลายรูปแบบ รวมถึงเตรียมเผยแพร่โฆษณาผ่าน IQYI ช่องทางสตรีมมิ่งยอดนิยมในตลาดจีน ไต้หวัน ฮ่องกง และกลุ่มประเทศอาเซียน และเชิญ Celebrity และ Influencer ชาวต่างชาติที่มีชื่อเสียงเดินทางสัมผัสประสบการณ์การท่องเที่ยวประเทศไทยในช่วงเทศกาลสงกรานต์ เพื่อสร้างแรงบันดาลใจในการเดินทางให้นักท่องเที่ยวทั่วทุกมุมโลกให้มาสัมผัสประสบการณ์ที่มีคุณค่าและความหมาย พร้อมส่งต่อความรู้สึกที่เกิดขึ้นในระหว่างการเดินทางท่องเที่ยวในประเทศไทยให้เป็น Amazing Thailand : Your Stories Never End

 

 

ด้านนายเสริมศักดิ์ กล่าวว่า จากการที่ประเพณีสงกรานต์ในประเทศไทยได้รับการประกาศจากองค์การ UNESCO ให้ขึ้นทะเบียนเป็นรายการตัวแทนมรดกวัฒนธรรมที่จับต้องไม่ได้ของมนุษยชาติ เมื่อวันที่ 6 ธันวาคม 2566 กระทรวงวัฒนธรรม โดยกรมส่งเสริมวัฒนธรรมจึงได้สนับสนุนการจัดกิจกรรมสงกรานต์ในกรุงเทพมหานคร และส่วนภูมิภาค 5 จังหวัด ได้แก่ เชียงใหม่ ขอนแก่น สมุทรปราการ ชลบุรี และภูเก็ต พร้อมจัดทำปฏิทินการจัดกิจกรรมสงกรานต์ ประจำปีพุทธศักราช 2567 ในพื้นที่ต่าง ๆ ทั้งส่วนกลางและส่วนภูมิภาคในช่วงเดือนเมษายน และได้แต่งตั้งนางสาว แอนโทเนีย โพซิ้ว รองนางงามจักรวาลอันดับ 1 เป็น “นางมโหธรเทวี” นางสงกรานต์ ประจำปี 2567 เพื่อร่วมถ่ายทอดคุณค่าและแสดงอัตลักษณ์ของประเพณีสงกรานต์ไทย พร้อมกันนี้ ยังได้จัดทำบทเพลงสงกรานต์ 4 ภาษา ได้แก่ ภาษาไทย ภาษาอังกฤษ ภาษาจีน และภาษาฝรั่งเศส เพื่อให้ประชาชนและนักท่องเที่ยวต่างชาติรับรู้ถึงคุณค่าสาระของประเพณีสงกรานต์ไทย สนับสนุนการสร้างพลังสร้างสรรค์ Soft Power ให้สร้างมูลค่าและรายได้แก่ประเทศไทย

 

ส่วนนายเกรียง กล่าวว่า กระทรวงมหาดไทยได้จัดทำแผนบูรณาการป้องกันและลดอุบัติเหตุทางถนนช่วงเทศกาลสงกรานต์ พ.ศ. 2567 โดยใช้ชื่อ “ขับขี่ปลอดภัย เมืองไทยไร้อุบัติเหตุ” โดยจะจัดตั้งศูนย์อำนวยการ ศูนย์ปฏิบัติการ ศูนย์ประสานการปฏิบัติช่วงเทศกาลสงกรานต์ พ.ศ. 2567 บูรณาการการดำเนินงานทุกภาคส่วนกำหนดแนวทางมาตรการในการป้องกันและแก้ไขปัญหาอุบัติเหตุทางถนน เน้นการบังคับใช้กฎหมายอย่างเข้มงวด ควบคู่กับการรณรงค์สร้างจิตสำนึกด้านความปลอดภัยทางถนน จัดตั้งจุดตรวจ จุดอำนวยความสะดวก จุดบริการ และให้อำนวยความสะดวกให้ประชาชนเดินทางอย่างปลอดภัย โดยสำหรับพื้นที่กรุงเทพฯ ได้เตรียมควบคุมดูแลพื้นที่ที่คาดว่าจะมีผู้มาร่วมงานสงกรานต์หนาแน่น จัดให้มีศูนย์กล้องวงจรปิด (CCTV) ติดตามเฝ้าสังเกต เพื่อจำกัดไม่ให้ผู้ร่วมงานเกินกว่าพื้นที่ที่รองรับได้ โดยสำนักป้องกันและบรรเทาสาธารณภัย กรุงเทพมหานคร ได้เตรียมการดูแลความปลอดภัยให้กับประชาชนและนักท่องเที่ยว สนับสนุนกำลังเจ้าหน้าที่ พร้อมรถดับเพลิงและกู้ภัย รถไฟฟ้าส่องสว่าง และอุปกรณ์ด้านการดับเพลิงและกู้ภัย ประจำจุดเฝ้าระวังอัคคีภัย อาทิ บริเวณย่านถนนสีลม ถนนข้าวสาร เป็นต้น รวมทั้งจุดบริการประชาชนบริเวณเส้นทางเข้าออกเมือง รวม 41 จุด

 

 

ทั้งนี้งาน “Maha Songkran World Water Festival 2024 เย็นทั่วหล้า มหาสงกรานต์ 2567” ไฮไลท์ในการจัดงาน ได้แก่ กิจกรรมขบวนรถพาเหรดมหาสงกรานต์ในวันที่ 11 เมษายน 2567 ซึ่งจะเริ่มต้นเคลื่อนขบวนจากสะพานผ่านฟ้าลีลาศผ่านบริเวณถนนราชดำเนินกลางและสิ้นสุดที่ท้องสนามหลวง โดยมีขบวนรถพาเหรดกว่า 20 ขบวน ได้แก่ ขบวนรถพระพุทธรูป ขบวนรถเทพีสงกรานต์ ประจำปี 2567 “มโหธรเทวี” เสด็จไสยาสน์ลืมเนตรเหนือหลังนกยูง ขบวนรถพาเหรด 16 จังหวัด ประกอบด้วย 5 จังหวัดที่มีอัตลักษณ์การจัดเทศกาลสงกรานต์ที่โดดเด่นซึ่งเป็นกลุ่มจังหวัดที่ประเทศไทยนำเสนอเพื่อขอขึ้นทะเบียนมรดกภูมิปัญญาทางวัฒนธรรม ได้แก่ เชียงใหม่ ขอนแก่น ชลบุรี สมุทรปราการ นครศรีธรรมราช กลุ่ม 5 จังหวัดนำร่อง ได้แก่ เชียงราย หนองคาย พิษณุโลก สงขลา บุรีรัมย์ และกลุ่มจังหวัดอื่นๆ ที่มีศักยภาพและมีการจัดงานประเพณีสงกรานต์ที่มีเอกลักษณ์ 6 จังหวัด ได้แก่ พระนครศรีอยุธยา นครพนม ลำปาง เลย สุโขทัย และภูเก็ต โดยจัดตกแต่งขบวนรถพาเหรดที่แสดงถึงประเพณีวัฒนธรรม บ่งบอกถึงสัญลักษณ์หรือของดีประจำจังหวัด พร้อมด้วยการแสดงศิลปวัฒนธรรมโดยนักแสดงและผู้ร่วมขบวนแห่กว่าพันคน รวมถึงขบวนรถพาเหรด Soft Power 4 สาขา ได้แก่ แฟชั่น เกม ภาพยนตร์และซีรีส์ และเฟสติวัล ที่จะมานำเสนอเอกลักษณ์ Soft Power ของประเทศไทยในแต่ละสาขาอย่างน่าสนใจ อาทิ ธีม SiamBL (สยามบีแอล) ในชุดไทยประยุกต์ร่วมสมัย ซึ่งจะมีนักแสดงจากค่ายผู้ผลิตซีรีส์วายชั้นนำร่วมในขบวนรถพาเหรด การแสดงทางวัฒนธรรม 4 ภาค ที่สะท้อนเทศกาลและงานประเพณีต่าง ๆ ของไทย เป็นต้น ทั้งนี้ ขบวนรถพาเหรดมหาสงกรานต์จะจอดแสดงโชว์ที่ท้องสนามหลวง ตั้งแต่วันที่ 11-15 เมษายน 2567

 

 

นอกจากนี้ ยังมีการจัดกิจกรรมในบริเวณพื้นที่ท้องสนามหลวง มุ่งนำเสนอศิลปวัฒนธรรมไทย อัตลักษณ์ประเพณีสงกรานต์ และ Soft Power ไทย ด้วยนวัตกรรมและความสร้างสรรค์ ประกอบด้วย เวทีจัดแสดงศิลปวัฒนธรรม เช่น การแสดงโขน รำมโนราห์ การแสดงร่วมสมัยผสมผสาน และการแสดงดนตรีออเครสต้าร่วมกับศิลปินที่มีชื่อเสียงระดับโลก โซนสงกรานต์อัตลักษณ์ 5 ภาคที่มีความสวยงามของวัฒนธรรมประเพณีแตกต่างกันไปตามท้องถิ่น ได้แก่ เวณีปี๋ใหม่เมืองเชียงใหม่ จ.เชียงใหม่ ประเพณีสงกรานต์กรุงเก่า จ.พระนครศรีอยุธยา ประเพณีแห่ต้นดอกไม้ จ.เลย ประเพณีก่อพระทรายวันไหล จ.ชลบุรี และประเพณีแห่นางดาน จ.นครศรีธรรมราช โซน Soft Power นำเสนอเอกลักษณ์ในแต่ละสาขาได้แก่ กีฬา อาหาร ท่องเที่ยว หนังสือ และการออกแบบ อาทิ สาขากีฬานำเสนอภายใต้แนวคิด Muaythai Maha Songkran ซึ่งจะมีการแสดงไหว้ครูมวยไทย การแสดงนาฏยุทธ์มวยไทย การแข่งขันมวยไทย โดยมีนักกีฬามวยไทยที่มีชื่อเสียงเข้าร่วมงาน รวมถึงการสาธิตมวยโบราณ สาขาอาหาร ด้วยแนวคิด “อาหารหน้าร้อนเย็นชื่นใจ มหาสงกรานต์” สาธิตอาหารไทยโบราณ อาหารไทยชาววัง และจำหน่ายอาหารไทยหน้าร้อนรูปแบบ Food Truck สาขาท่องเที่ยว เชิญสัมผัสประสบการณ์ 365 วัน มหัศจรรย์เที่ยวเมืองไทย เสนอขายแพคเกจส่งเสริมการท่องเที่ยวภายในประเทศ รวมถึงลานเล่นน้ำ การแสดงน้ำพุประกอบดนตรี อุโมงค์น้ำ ถังน้ำล้นยักษ์ สถานีน้ำ สำหรับให้นักท่องเที่ยวร่วมเล่นน้ำ และ โซนจำหน่ายผลิตภัณฑ์ และสุดยอดของดี OTOP จากทั่วประเทศ โดยในวันที่ 13 เมษายน 2567 เนื่องในโอกาสวันปีใหม่ไทยจะจัดให้มีกิจกรรมพิเศษทำบุญตักบาตร กิจกรรมสรงน้ำพระเพื่อขอพรเสริมสิริมงคล รดน้ำผู้สูงอายุ เพื่อร่วมอนุรักษ์และสืบสานวัฒนธรรมประเพณีไทยอันดีงามอีกด้วย

ททท. ยังส่งเสริมให้ใช้ทรัพยากรน้ำอย่างมีประสิทธิภาพสูงสุดและได้คำนึงถึงการบริหารจัดการด้านสิ่งแวดล้อม โดยได้ร่วมมือกับบริษัท พีทีที โกลบอล เคมิคอล จำกัด (มหาชน) หรือ PTTGC จัดกิจกรรม GCYOU เทิร์น บริหารจัดการขยะจากพลาสติก ขวดน้ำดื่ม โดยจัดจุดรับขวด YOU เทิร์น Droppoint 20 จุดบริเวณงาน จัดกิจกรรมส่งเสริมรณรงค์การทิ้งขยะ นำขวดน้ำดื่มมาแลกของรางวัล และกิจกรรม Upcycling โดยการนำฝาขวดน้ำดื่ม มา DIY เป็นพวงกุญแจ สร้อย ที่เปิดขวด รวมถึงออกบูธจำหน่ายสินค้าจากการ Upcycling อาทิ เสื้อลายดอกที่ทำจากพลาสติก Recycle

 

 

โดยคาดการณ์ว่าในช่วงเทศกาลสงกรานต์ 2567 ระหว่างวันที่ 12 – 16 เมษายน 2567 บรรยากาศการเดินทางท่องเที่ยวในประเทศจะมีการเดินทางอย่างคึกคักมากขึ้นกว่าปีที่ผ่านมา และคาดว่าจะส่งผลให้เกิดรายได้รวมประมาณ 24,420 ล้านบาท สำหรับตลาดในประเทศ คาดว่าจะมีจำนวนผู้เยี่ยมเยือนชาวไทยเดินทางท่องเที่ยวภายในประเทศ 4,299,500 คน-ครั้ง และใช้จ่ายสร้างรายได้หมุนเวียน 15,660 ล้านบาท ขณะที่คาดว่าจะมีนักท่องเที่ยวต่างชาติเดินทางเข้ามาท่องเที่ยวประเทศไทย 510,000 คน สร้างรายได้ทางการท่องเที่ยวประมาณ 8,760 ล้านบาท เติบโตประมาณร้อยละ 49 จากปี 2566 โดยสำหรับพื้นที่กรุงเทพมหานคร คาดว่าในช่วงการจัดกิจกรรมจะสร้างรายได้ทางการท่องเที่ยวประมาณ 3,690 ล้านบาท และมีจำนวนผู้เยี่ยมเยือนชาวไทย 653,590 คน-ครั้ง

__________

Photo :  ปิโยรส  อุทุมเทวา

#การท่องเที่ยวแห่งประเทศไทย #ททท #กระทรวงการท่องเที่ยวและกีฬา #กระทรวงวัฒนธรรม #กระทรวงมหาดไทย #MahaSongkranWorldWaterFestival2024 #เย็นทั่วหล้ามหาสงกรานต์2567
#ข่าวท่องเที่ยว #SmartNews

ใส่ความเห็น

อีเมลของคุณจะไม่แสดงให้คนอื่นเห็น ช่องข้อมูลจำเป็นถูกทำเครื่องหมาย *

Next Post

"นฤมล” เผย ไทย-ญี่ปุ่น เดินหน้าขยายความร่วมมือกับ Zeroboard ตั้งเป้า ไทยเป็นกลางทางคาร์บอนในปี 2050 และเป็นประเทศปล่อยก๊าซเรือนกระจกสุทธิเป็นศูนย์ในปี 2065

  “นฤมล” เผย ไทย-ญี่ปุ่น เดินหน้าขยายคว […]

You May Like

Subscribe US Now