ม.ธุรกิจบัณฑิตย์ จัดกิจกรรม “DPU สันติวัฒนธรรมและการฟังอย่างเข้าใจ” วิธีแก้ปัญหาความขัดแย้ง

 

ม.ธุรกิจบัณฑิตย์ จัดกิจกรรม “DPU สันติวัฒนธรรมและการฟังอย่างเข้าใจ” วิธีแก้ปัญหาความขัดแย้ง

 

 

“ผศ.ดร.วันวร จะนู” ผู้เชี่ยวชาญพิเศษอาวุโส และ อาจารย์​อติชาต​ ตัน​เจริญ ผู้ชำนาญ​การ​งาน​สันติวิธี หน่วยงาน​ Student​ Support​ &​ Services มหาวิทยาลัยธุรกิจบัณฑิตย์ (DPU) ​ได้แนะนำถึงวิธีการจัดการ และ ป้องกัน “ความขัดแย้ง” อันเกิดจากการความคิด และความแตกต่าง ที่หลากหลาย จนหลายคนอาจเกิดความไม่สบายใจในการอยู่ร่วมกันจนนำไปสู่ความขัดแย้ง และอาจพัฒนาไปสู่ความรุนแรงได้ โดยเฉพาะกรณีหมู่เพื่อนด้วยกัน ซึ่งองค์กรที่เป็นองค์กรของคนรุ่นใหม่จะให้ความสำคัญกับเรื่องการจัดการความขัดแย้งด้วยสันติวิธี กับ การสร้างสันติวัฒนธรรมและการฟังอย่างเข้าใจ

 

 

ผู้เชี่ยวชาญทั้งสองท่านขยายความต่อมาว่า “ปัญหาความขัดแย้งในปัจจุบัน ส่วนหนึ่งเกิดเพราะโซเชียลมีเดีย โดยในด้านหนึ่ง ‘โซเชียลมีเดีย’ ช่วยให้คนเราเชื่อมต่อกัน แบ่งปันข้อมูลข่าวสาร และสร้างความสัมพันธ์ที่ดี ทว่า…อีกด้านโซเชียลมีเดียเองอาจสร้างปัญหาความขัดแย้งได้ง่ายขึ้น เช่น การสื่อสารที่ผิดพลาดในตัวอักษรที่อาจตีความได้หลายแง่มุม การแสดงความคิดเห็นที่ไม่เหมาะสม ไม่สุภาพหรือล่วงละเมิดผู้อื่น การเปรียบเทียบตัวเองกับผู้อื่น ไปจนถึงการกลั่นแกล้งทั้งในทางออนไลน์ ตรงนี้อาจจะสร้างความขัดแย้งขึ้นได้ จำเป็นต้องรู้เท่าทันมันเสียก่อน”

 

และเมื่อมาอยู่ร่วมกันในสังคมใดๆก็ตามอาจเกิดการกระทบกระทั่งทางกาย และ วาจา ซึ่งหากมีปัญหาความขัดแย้งขึ้นมา อาจส่งผลต่อการเรียน การทำงาน เครือข่าย ทำให้เกิดความแตกสามัคคีกัน ประสิทธิภาพและประสิทธิผลของหน่วยงานนั้นๆ ในมิติต่างๆ จะลดต่ำลง ฯลฯแม้แต่ในกลุ่มเพื่อนนักศึกษาด้วยกัน ซึ่งมีกลุ่มย่อยๆ จำนวนมาก และมีความแตกต่างหลากหลายมากอาจเกิดปัญหามากกว่า ปัญหาอาจมีความซับซ้อนกว่า ดังเช่นกรณีนักศึกษาที่รูปแบบของความขัดแย้งจากเดิม 1 ต่อ 1 คนที่มีปัญหา กลายเป็น 1 กลุ่มต่ออีก 1 กลุ่ม

 

 

 

“ยิ่งในกรณีองค์กร หน่วยงานที่เข้าถึงอาวุธได้ ความขัดแย้งที่รุนแรงขึ้นอาจนำไปสู่การเสียชีวิตได้ ดังที่เป็นข่าวให้ได้ยินอยู่เสมอ เรื่องสันติวิธีจึงสำคัญมาก ส่วนในองค์กรธุรกิจ องค์กรการศึกษาหรือหน่วยงานทั่วไป อาจจะกระทบต่อการดำเนินงาน ทำเกิดการเสื่อมเสียชื่อเสียง” ผศ.ดร.วันวร จะนู ผู้เชี่ยวชาญพิเศษอาวุโส มหาวิทยาลัยธุรกิจบัณฑิตย์ (DPU) กล่าว ในการจัดโครงการอบรมสัมมนาเรื่อง ” เทคนิคการให้การปรึกษาเชิงจิตวิทยาเบื้องต้น” ในวันจันทร์ที่ 18 มีนาคม 2567 ที่ผ่านมา ที่มีวัตถุประสงค์เพื่อให้อาจารย์วิทยาลัยและคณะ ได้ทราบถึงวิธีการและเทคนิคการให้คำปรึกษาเชิงจิตวิทยา และ งานสันติวิธีเบื้องต้น เพื่อนำความรู้ที่ได้รับไปดูแลนักศึกษาไม่ใช่ใครก็มีได้ เพราะ ‘สันติวิธี’ ต้องฝึก

 

คนรุ่นใหม่ที่ดีไม่ใช่เพียงรู้รอบและฉลาดหลักแหลมเพียงเท่านั้น แต่ต้องรู้จักประสานใจอยู่ร่วมกับผู้อื่นได้อย่างสันติ โดยเฉพาะโลกยุคดิจิทัลที่ข่าวสารต่างๆ เชื่อมต่อแค่ปลายนิ้ว สิ่งนี้แม้จะมีมุมสร้างคุณประโยชน์ แต่อัลกอริทึมในระบบสื่อเครือข่ายสังคมก็แฝงไว้ด้วยอันตราย เพราะมักคัดสรรแต่สิ่งที่ผู้ใช้ชอบ และยัดเยียดนำเสนอซ้ำๆ จนเกิด ‘Filter Bubble’ หรือ ภาษาไทยเรียก กะลาครอบ ที่ปิดกั้นความคิดตัวเอง แล้วสร้างอคติ จนก่อให้เกิดความรุนแรงได้ง่ายขึ้น

 

“กรณีบุคลากรในองค์กรทั่วๆ ไป ส่วนใหญ่ชนวนเหตุต้นตอที่พบบ่อยที่สุดคือ ‘เรื่องการทำงานด้วยกัน’ ความคิดเห็นไม่ตรงกันในเป้าหมายการทำงาน หรือ การกล่าวโทษการทำงานของกันและกัน ฯลฯ ส่วนกรณีนักศึกษาจะมีชนวนเหตุที่แตกต่าง และหลากหลายกว่ามาก ทั้งเรื่องส่วนตัวโดยตรง เรื่องที่เกี่ยวข้องกับเพื่อนๆ เรื่องการทำงานหรือการทำกิจกรรมต่างๆ ร่วมกัน เรื่องความแตกต่างทางด้านวัฒนธรรม และความแตกต่างข้ามวัฒนธรรม”

 

ผศ.ดร.วันวร บอกว่า ฉะนั้นกรณีของบุคลากรการแก้ปัญหานี้ไม่ใช่แค่เพียงหน้าที่หลักของฝ่ายทรัพยากรบุคคล หรือ HR เพียงฝ่ายเดียว แต่ ผู้นำองค์กร หรือ CEO ก็ต้องเข้าใจปัญหาอย่างลึกซึ้ง ต้องแยกแยะเป็นรายบุคคล และสามารถแยกปัญหาออกมาได้ว่าเรื่องนี้มันเกี่ยวข้องกับเรื่องอะไร ถึงจะนำไปสู่การแก้ปัญหาได้

 

 

ส่วนกรณีนักศึกษาการ “ตัดสินให้ทั้งคู่ผิด” หรือ “ทั้งคู่มีส่วนผิด” แบบที่เคยเข้าใจและปฏิบัติกันมานั้น ผศ.ดร.วันวร ย้ำเสียงหนักว่า วิธีนี้อาจนำไปสู่การยกระดับความรุนแรงเพิ่มขึ้น กรณีที่ร้ายแรง อาจก่อให้เกิดการ “เอาคืน” ในภายหลังได้ วิธีการที่ถูกต้องในภาพรวมขององค์กรคือการใช้ ‘หลักสันติวิธี’ แนวทางในการแก้ไขความขัดแย้งที่เน้นการเคารพและการสื่อสาร มาประกอบกับการใช้การฟังอย่างเข้าใจหรือ ‘Deep Listening’ และเข้าใจหลัก ‘จิตวิทยา’ เพื่อสร้างสันติในการอยู่ร่วมกันอย่างยั่งยืน

 

“บางคนอาจจะมีมนุษยสัมพันธ์ที่ดีอยู่แล้ว แต่ตราบใดที่ Fact หรือความจริง จากเหตุการณ์ยังไม่ชัดเจน เราก็จะไปต่อไม่ได้ มันต้องเริ่มต้นจากการฟังก่อน จากนั้นในทางสันติวิธีเรียกว่า “เรามานั่งฟังกัน” เราถึงจะเกิด Deep Listening การฟังอย่างเข้าใจ และจึงจะเริ่มต้นคุยกันต่อได้ ทักษะนี้จึงต้องฝึก ต้องเรียนและอบรม ไม่ใช่อยู่ๆ มันก็เกิดขึ้นเอง ศาสตร์ด้านนี้มีหลักวิชาทั้งในระดับ ป.ตรี-โท-เอก การจับหลักทฤษฎี หลักวิชาการจะช่วยให้ไม่ต้องไปเริ่มต้นลองผิด ลองถูกใหม่ เรียนรู้ทางลัด ที่ทดลองมาแล้วว่าได้ผล และมีประสิทธิภาพ”

 

ความต่อเนื่อง ‘การทำงาน’ ความต้องการในทุกระดับชั้น

ผศ.ดร.วันวร เสริมว่า เพื่อให้เกิดสภาพแวดล้อมที่เอื้อต่อการใช้สันติวิธี ต้องกลับไปที่หลักคิด ที่เรียกว่าการสร้าง ‘สันติวัฒนธรรม’ ที่ว่าด้วยเรื่องของการปลูกฝังค่านิยมหรือความเชื่อ ในด้านความยุติธรรม ความเท่าเทียม และความเคารพความหลากหลายต่างๆ ขึ้นภายในองค์กร กรณีในกลุ่มบุคลากรองค์กรจำต้องอาศัย ‘ความต่อเนื่อง’ โดยสอดแทรกผ่านกิจกรรมได้ทั้งในเนื้องาน เช่น การประชุม การจัดสัมมนา ฯลฯ เพื่อเน้นย้ำสื่อสารถึงวิสัยทัศน์ เป้าหมาย แผนยุทธศาสตร์ ไล่ลงมาจนหน่วยงาน สายงาน และออกมาเป็น OKR และ KPI ของบุคลากรในส่วนงานนั้นๆ หรือแม้แต่การจัดกิจกรรม เช่น กีฬาสีบุคลากรก็ช่วยยกกระชับความสัมพันธ์ให้ดียิ่งขึ้น

 

“หลายคนเวลาอยู่ในที่ทำงานอาจจะไม่ค่อยได้สนิทกัน แต่เมื่อมีการจัดกิจกรรมการที่ผู้คนจากหลายหน่วยงานได้มาพบปะพูดคุยกันค่อยๆ ก่อเกิดเป็นความสัมพันธ์ขึ้น บางคนก็ถูกชะตากัน บางคนมีรสนิยมเดียวกัน ที่สำคัญที่พบคนที่ผ่านประสบการณ์พวกนี้มาแล้วและมันเกิดมีความขัดแย้ง การไกล่เกลี่ยจะง่ายขึ้นเยอะกว่ากับคนที่ไม่มีความสัมพันธ์กัน”

 

นอกจากนี้สันติวิธียังมีความจำต่อทุกระดับของการทำงาน ไม่ใช่แค่เรื่องเฉพาะผู้บริหารระดับสูงเท่านั้น แต่ในระดับของ ‘ผู้จัดการ’ หรือ ‘หัวหน้า’ เองก็ยังจำเป็นที่จะต้องฝึกทักษะดังกล่าวด้วย ส่วนทางด้านนักศึกษาเองก็เช่นเดียวกัน การจัดกิจกรรมสร้างความสัมพันธ์ที่ดี และต่อเนื่องระหว่างอาจารย์และนักศึกษา ระหว่างผู้นำนักศึกษาทั้งในวิทยาลัยและคณะเดียวกัน ไปจนถึงต่างหน่วยงาน ทั้ง กิจกรรมต้อนรับเพื่อนใหม่ กิจกรรมอบรมสัมมนาผู้นำนักศึกษาประจำปี กิจกรรมกีฬาสร้างสัมพันธ์ กิจกรรมที่สร้างคุณค่าต่อสังคม ฯลฯ ล้วนมีประโยชน์ต่อการสร้างสันติวัฒนธรรม

 

“หรือการจัดกิจกรรมด้านสันติวัฒนธรรมหรือสันติวิธีโดยตรง เช่น ‘Deep Listening’ การฟังอย่างเข้าใจ หรือสอดแทรกไว้ในกิจกรรมต่างๆ ก็สามารถทำได้เช่นกัน กิจกรรมต่างๆ เหล่านี้จะช่วยให้เกิดความสัมพันธ์ที่ดีระหว่างนักศึกษา และเมื่อเกิดปัญหาความขัดแย้งการไกล่เกลี่ยเพื่อแก้ปัญหาสามารถทำได้ง่ายขึ้นและเกิดความสำเร็จสูง”

 

“โดยมีความน่าสนใจอีกประเด็นหนึ่งในการไกล่เกลี่ย แก้ปัญหาความขัดแย้งที่มีโอกาสประสบความสำเร็จสูงคือ การมีตัวกลางที่เชื่อมต่อระหว่างคู่กรณี “สมมุติเกิดเหตุขัดแย้งระหว่าง ‘นาย ก. กับ นาย ข.’ แต่ทั้งคู่สนิทกับนาย ค. ผู้ไกล่เกลี่ยอาจจะขอให้นาย ค. มาช่วยด้วย ในทางสันติวิธีเรียกว่า ‘Node’ อย่างกรณีนักศึกษา เวลามีความขัดแย้งกันก่อนที่จะเกิดความรุนแรง ทั้งคู่รู้จักพี่ที่ชื่อ ค. เหมือนกัน เหมือนการคุยไปคุยมาถามว่าเป็นคนบ้านไหน ถ้าเป็นคนบ้านเดียวกันก็จะไกล่เกลี่ยกันง่ายขึ้นไปอีก”

 

จากสิ่งที่มหาวิทยาลัยปลูกฝัง สู่ Soft Skills สำคัญที่ใครๆ ก็ต้องการในยุคปัจจุบัน

ผลสำรวจและวิจัย Harvard Business Review เปิดเผยว่า ในปี 2024 เรื่องความขัดแย้งเป็น 1 ใน Trends Impact ที่ส่งผลกระทบต่องานและองค์กร อาจารย์​อติชาต​ ตัน​เจริญ ผู้ชำนาญ​การ​งาน​สันติวิธี หน่วยงาน​ Student​ Support​ &​ Services ​ กล่าวว่า มหาวิทยาลัยธุรกิจบัณฑิตย์ได้ให้ความสำคัญกับเรื่องนี้ และผลักดันมาตลอดตั้งแต่ปี พ.ศ. 2553 โดยจัดหลายต่อหลายครั้งในแต่ละปีภายใต้หัวข้อที่แตกต่างกันออกไป เพื่อให้นักศึกษาหันมาสนใจและสามารถนำไปปรับใช้ได้ในชีวิตจริงเมื่อไม่นานมานี้ เช่น Social Media and Peacebuilding

 

“เราเป็นสถาบันทางการศึกษาแห่งแรกๆ ที่บุคลากรผู้สอนได้รับการรับรองจากสถาบันพระปกเกล้า หน่วยงานหลักที่ขับเคลื่อนงานเรื่องนี้ในประเทศไทย และเรายังเคยเป็นเจ้าภาพจัดงานสันติวิธีในส่วนของเครือข่ายมหาวิทยาลัยภาคกลางตอนบน โดยตอนนั้นจะมีเรื่องความสัมพันธ์ในเรื่องของหอพักร่วมด้วย”

 

มากไปกว่านั้นเพื่อให้ สันติวิธี และ ความขัดแย้ง เป็นวาระแห่งโอกาสในการเรียนรู้ ทางมหาวิทยาลัยยังได้จัดตั้งศูนย์ ‘Student​ Support​ &​ Services’ หรือ ‘SSS’ เพื่อให้นักศึกษาสามารถปรึกษาปัญหากรณีส่วนตัว ทางศูนย์ฯ ได้จัดเตรียมทั้งห้อง และนักจิตวิทยาคอยดูแลรับรองสำหรับการให้คำปรึกษาตลอดเวลา ขณะที่หากนักศึกษามีความขัดแย้งกรณีกันระหว่างบุคคล จะมีเจ้าหน้าที่ ‘นักสันติวิธี’ เข้ามาดูแลอย่างดี

 

“เพื่อให้เกิดประโยชน์อย่างเต็มที่ในการเรียนรู้เรื่องสันติวิธี ทั้งผู้ที่เกี่ยวข้อง เพื่อนที่เกี่ยวข้อง จะเข้าสู่กระบวนการโดยจะได้รับบทเรียนและการเรียนรู้ในเวลาที่ไกล่เกลี่ยไปด้วยกัน ส่วนคนที่เพื่อนตามมาด้วย ก็ได้รับการปลูกฝังไปด้วยเลยว่า กระบวนการเป็นอย่างไร เราแยกออกมาเลย เพราะทุกอย่างมัน ‘เหตุเกิดจากเหตุ’ เหตุนี้มันเกิดจากเหตุนี้มันมีสาเหตุเสมอ ฉะนั้นก่อนที่คุณจะไปว่าใครคุณฟังความให้จบสิ้นกระบวนความแล้วค่อยสรุป ไม่ใช่พอฟังปุ๊บสรุปเลย ฟังจากเพื่อนคุณฝั่งเดียวสรุปเลยก็จะกลายเป็นความขัดแย้ง”

 

“ถ้าถามว่าอนาคตทักษะเหล่านี้จะเป็นอย่างไร ผมกับ ผศ.ดร.วันวร เห็นตรงกันปัจจุบันยิ่งต้องการมากกว่าเดิม กรอบคิดพวกนี้ไม่เคยล้าสมัย ส่วนในอนาคตเรื่อง จาก VUCA world สู่ BANI world หรือเรื่อง Climate Change และ SDGs ก็จะเป็นตัวแปรสำคัญที่เข้ามาเกี่ยวข้องด้วย โดยเรายังโฟกัสที่การสื่อสารใน Social Media ที่ต้องระมัดระวังให้มากขึ้น” ผู้ชำนาญ​การ​งาน​สันติวิธีกล่าวทิ้งท้าย

#DPU
#SmartNews

ใส่ความเห็น

อีเมลของคุณจะไม่แสดงให้คนอื่นเห็น ช่องข้อมูลจำเป็นถูกทำเครื่องหมาย *

Next Post

วิทยาลัยครุศาสตร์ ม.ธุรกิจบัณฑิตย์ จัดสัมมนา "คุณธรรม จริยธรรมสำหรับครูในยุค BANI World” สร้างครูที่ดีเลิศ เพื่อส่องสว่างชีวิตเด็กไทยในอนาคต

  วิทยาลัยครุศาสตร์ ม.ธุรกิจบัณฑิตย์ จัดสัมมน […]

You May Like

Subscribe US Now