นายกรัฐมนตรีเยือนพื้นที่จังหวัดเชียงใหม่บูรณาการคมนาคมอำนวยความสะดวกการเดินทางท่องเที่ยว เชื่อมโยง 7 แหล่งท่องเที่ยวชื่อดัง พร้อมเร่งแก้ไขปัญหาฝุ่นละออง PM2.5
เมื่อวันที่ 11 มกราคม 2567 นายเศรษฐา ทวีสิน นายกรัฐมนตรี เดินทางตรวจราชการ ณ จังหวัดเชียงใหม่ประชุมร่วมกับหน่วยงานที่เกี่ยวข้องในพื้นที่ติดตามความคืบหน้าการเชื่อมโยงระบบขนส่งและเดินทางในจังหวัดเชียงใหม่ การพัฒนาแหล่งท่องเที่ยวในพื้นที่ และการแก้ไขปัญหาหมอกควันไฟป่าและฝุ่นละออง PM2.5
พร้อมด้วย นายสุริยะ จึงรุ่งเรืองกิจ รัฐมนตรีว่าการกระทรวงคมนาคม ร้อยเอก ธรรมนัส พรหมเผ่า รัฐมนตรีว่าการกระทรวงเกษตรและสหกรณ์
นางสาวสุดาวรรณ หวังศุภกิจโกศล รัฐมนตรีว่าการกระทรวงการท่องเที่ยวและกีฬา นายอารัญ บุญชัย ปลัดกระทรวงการท่องเที่ยวและกีฬา นายณณัฏฐ์ หงส์ชูเวช ที่ปรึกษารัฐมนตรีว่าการกระทรวงการท่องเที่ยวและกีฬา นางสาวฐาปนีย์ เกียรติไพบูลย์ ผู้ว่าการการท่องเที่ยวแห่งประเทศไทย (ททท.) และนายนิธี สีแพร รองผู้ว่าการด้านสื่อสารการตลาด ททท. เข้าร่วมการประชุม
นายเศรษฐา ทวีสิน นายกรัฐมนตรี ร่วมประชุมรับทราบความคืบหน้าการเชื่อมโยงระบบขนส่งและเดินทางในพื้นที่จังหวัดเชียงใหม่ เรื่องการปรับปรุงโครงข่ายถนนในเขตเมืองเชียงใหม่วงแหวนรอบ 3 วงให้สามารถเชื่อมต่อได้อย่างครบวงจร แผนพัฒนาระบบขนส่งสาธารณะรถไฟฟ้าใต้ดิน LRT สายสีแดง น้ำเงิน เขียว โดยเชื่อมโยงสนามบินเชียงใหม่ สู่ตัวเมืองและแหล่งท่องเที่ยว เพื่ออำนวยความสะดวกในการเดินทางให้กับนักท่องเที่ยวและ ลดปัญหาฝุ่นละออง PM2.5 นอกจากนี้ ในระยะสั้นจะเปิดเส้นทางเดินรถโดยสารสาธารณะใหม่ 3 เส้นทางภายในเดือนเมษายน เชื่อมโยงสนามบินเชียงใหม่ สถานีรถไฟ และแหล่งท่องเที่ยว 7 แห่ง ได้แก่ อุทยานหลวงราชพฤกษ์, เชียงใหม่ไนท์ซาฟารี, ศูนย์ประชุมและแสดงสินค้านานาชาติ, น้ำตกห้วยแก้ว, สวนสัตว์เชียงใหม่, เวียงกุมกาม และ วัดพระธาตุดอยคำ พร้อมนี้จะเปลี่ยนรถแดงเชียงใหม่ให้เป็นรถแดงไฟฟ้า (EV) เพื่อลดต้นทุนค่าเชื้อเพลิงและฝุ่นละออง จัดตั้งป้ายรถเมล์อัจฉริยะ Smart Bus Stops และ Smart Bus System ขณะที่ท่าอากาศยานเชียงใหม่จะเพิ่มขีดความสามารถในการรองรับจาก 8 ล้านคน เป็น 18 ล้านคนต่อปี และอยู่ระหว่างศึกษาความเป็นไปได้ในการสร้างท่าอากาศยานล้านนาเป็นสนามบินเชียงใหม่แห่งที่ 2 โดยสำหรับการเปิดท่าอากาศยานเชียงใหม่ 24 ชั่วโมง ทำให้เที่ยวบินเพิ่มขึ้นสัปดาห์ละ 100 เที่ยวบิน โดยมีเที่ยวบินเพิ่มจากเซี่ยงไฮ้ ฉงชิ่ง สาธารณรัฐประชาชนจีน, คันไซ ญี่ปุ่น, ไทเป ไต้หวัน, นิวเดลีและมุมไบ อินเดีย ซึ่งเป็นผลจากมาตรการวีซ่าฟรีด้วย นอกจากนี้จะมีการพัฒนาปรับปรุงทางหลวง 6 เส้นทาง ได้แก่ เชียงใหม่-เชียงราย/ เชียงใหม่-ลำพูน/จอมทอง-ฮอด/เชียงใหม่-แม่ฮ่องสอน/เชียงใหม่-ปาย/ เชียงใหม่-แม่กำปอง-กิ่วฝิ่น-แจ้ซ้อน และทางเดินเท้าขึ้นดอยสุเทพ สำหรับประเด็นเรื่องการแก้ไขปัญหาหมอกควันไฟป่าและฝุ่นละออง PM2.5 นายกรัฐมนตรีมอบนโยบายให้ลดจุดความร้อน Hotspots ทำแนวกันไฟ ทำความเข้าใจกับประชาชนให้ปรับเปลี่ยนพฤติกรรม เปลี่ยนไม่เผาเศษวัชพืช ปลูกป่า ไม่ให้เกิดการเผาซ้ำซาก และต้องร่วมมือกันทุกภาคส่วน
นางสาวฐาปนีย์ เกียรติไพบูลย์ ผู้ว่าการ ททท. กล่าวว่า ททท.เชื่อมั่นว่า การพัฒนาระบบขนส่งและการเชื่อมโยงทั้งทางบกและทางอากาศจะเพิ่มขีดความสามารถและศักยภาพจังหวัดเชียงใหม่ในการเดินทางและเข้าถึงแหล่งท่องเที่ยว ทำให้นักท่องเที่ยวสามารถเดินทางได้อย่างสะดวกและเกิดการเชื่อมโยงอย่างไร้รอยต่อ ส่งผลดีต่อการท่องเที่ยวจังหวัดเชียงใหม่และเชื่อมโยงพื้นที่จังหวัดโดยรอบ ทั้งนี้ ททท.โดยสำนักงานเชียงใหม่เสนอเส้นทางเชื่อมโยงการท่องเที่ยวภายใต้ 2 แนวคิด ได้แก่ 1) เส้นทางท่องเที่ยว Chiangmai Faithival หรือเที่ยวเชียงใหม่…มหาศรัทธา และ 2) เส้นทาง Chiang Mai I Care เที่ยวเชียงใหม่ สรรค์สร้างประสบการณ์ เส้นทางการท่องเที่ยวเพื่อการเรียนรู้อย่างยั่งยืนของกลุ่มครอบครัว เพื่อเสนอขายนักท่องเที่ยวทั้งชาวไทยและชาวต่างชาติ รวมถึงส่งเสริมให้เกิดการท่องเที่ยวเชียงใหม่ตลอดทั้งปี ภายใต้แนวคิด “12 เดือน 12 เทศกาล” ต่อยอดส่งเสริมงานเทศกาลประเพณีให้เชียงใหม่เป็นเมืองแห่งเทศกาล “Chiang Mai Festival City” เพื่อกระจายการท่องเที่ยวให้ไม่กระจุกตัวเพียงช่วงเวลาเดียว และเร่งผลักดันให้เชียงใหม่เป็นจุดหมายปลายทางสำหรับ Workation และ Digital Nomad พร้อมสร้างการรับรู้ผ่าน Social Media Platform ด้วย Influencer และเครือข่ายพันธมิตรสื่อมวลชนทั้งออนไลน์และออฟไลน์ของสำนักงาน ททท. และต่างประเทศ
สถานการณ์การเดินทางท่องเที่ยวจังหวัดเชียงใหม่ในเดือนมกราคม – พฤศจิกายน 2566 มีจำนวนผู้เยี่ยมเยือน 9.4 ล้านคน-ครั้ง เติบโตร้อยละ 24 เทียบกับปี 2565 และสร้างรายได้กว่า 75,110 ล้านบาท เติบโตร้อยละ 47 เทียบกับปี 2565 โดยมีสัดส่วนผู้เยี่ยมเยือนชาวไทย ร้อยละ 73 และชาวต่างชาติ ร้อยละ 27 โดยนักท่องเที่ยวต่างชาติที่นิยมเดินทางท่องเที่ยวในจังหวัดเชียงใหม่ ได้แก่ จีน เกาหลี ไต้หวัน ฮ่องกง และมาเลเซีย ขณะที่ปัจจุบันมีเที่ยวบินตรงจากต่างประเทศเข้าสู่เชียงใหม่ 606 เที่ยวบิน/เดือน คิดเป็นจำนวน 109,440 ที่นั่ง จาก ดานัง ฮานอย โฮจิมินห์ – เวียดนาม, กัวลาลัมเปอร์ – มาเลเซีย, สิงคโปร์, ฮ่องกง, มาเก๊า, หลวงพระบาง – สปป.ลาว, ย่างกุ้ง – เมียนมา, ไทเป – ไต้หวัน, อินชอน ปูซาน – เกาหลีใต้, ปักกิ่ง หางโจว เฉินตู กวางโจว เซี่ยงไฮ้ คุนหมิง จิ่นหง – สาธารณรัฐประชาชนจีน และ คันไซ – ญี่ปุ่น