ศาลรัฐธรรมนูญ ฟัน “พิธา-ก้าวไกล” เสนอแก้ ม.112 เข้าข่ายล้มล้างการปกครอง สั่ง “ยุติการกระทำ” เตือน “วิจารณ์ศาลด้วยถ้อยคำหยาบคาย ถือเป็นการละเมิด มีโทษทั้งจำคุกและปรับ”

 ศาลรัฐธรรมนูญ ฟัน “พิธา-ก้าวไกล” เสนอแก้ ม.112 เข้าข่ายล้มล้างการปกครอง สั่ง “ยุติการกระทำ” เตือน “วิจารณ์ศาลด้วยถ้อยคำหยาบคาย ถือเป็นการละเมิด มีโทษทั้งจำคุกและปรับ”

 

 

วันที่ 31 ม.ค. 2567 เวลา 14.00 น. คณะตุลาการศาลรัฐธรรมนูญ นั่งบัลลังก์อ่านคำวินิจฉัยคดีที่นายธีรยุทธ สุวรรณเกษร อดีตทนายความพระพุทธะอิสระ ขอให้ศาลรัฐธรรมนูญพิจารณาวินิจฉัยตามรัฐธรรมนูญ มาตรา 49 ว่า การกระทำของนายพิธา ลิ้มเจริญรัตน์ ขณะเป็นหัวหน้าพรรคก้าวไกล และพรรคก้าวไกล ที่เสนอร่างพระราชบัญญัติแก้ไขเพิ่มเติมประมวลกฎหมายอาญา (ฉบับที่ ..) พ.ศ. … เพื่อยกเลิกประมวลกฎหมายอาญา มาตรา 112 โดยใช้เป็นนโยบายในการหาเสียงเลือกตั้ง และยังคงดำเนินการอย่างต่อเนื่อง เป็นการใช้สิทธิเสรีภาพเพื่อล้มล้างการปกครองระบอบประชาธิปไตยอันมีพระมหากษัตริย์ทรงเป็นประมุข ตามรัฐธรรมนูญ มาตรา 49 วรรคหนึ่ง หรือไม่

 

ศาลมีคำวินิจฉัยโดยสังเขปว่า ผู้ถูกร้องทั้งสองเสนอให้มาตรา 112 ออกจากความผิดเกี่ยวกับความมั่นคงของราชอาณาจักร มีเจตนามุ่งหมายที่จะแยกสถาบันพระมหากษัตริย์กับความเป็นชาติไทยออกจากกัน ซึ่งเป็นอันตรายต่อความมั่นคงของรัฐอย่างมีนัยยะสำคัญ

 

ดังนั้น การเสนอร่างพระราชบัญญัติแก้ไขเพิ่มเติมประมวลกฎหมายอาญา (ฉบับที่..) พ.ศ. …. แก้ไขประมวลกฎหมายอาญามาตรา 112 เป็นหน้าที่ของสมาชิกสภาผู้แทนราษฎรผ่านกระบวนการทางนิติบัญญัติตามรัฐธรรมนูญ แม้จะไม่ได้รับการบรรจุในวาระการประชุมสภาผู้แทนราษฎร แต่การเสนอร่างพระราชบัญญัตินี้ได้ดำเนินการโดยสมาชิกสภาผู้แทนราษฎรที่สังกัดพรรคผู้ถูกร้อง

 

ผู้ถูกร้องทั้งสองยอมรับว่าพรรคนำเสนอนโยบายดังกล่าวให้แก่คณะกรรมการการเลือกตั้ง เพื่อใช้เป็นนโยบายในการรณรงค์หาเสียงเลือกตั้งสมาชิกสภาผู้แทนราษฎรเป็นการทั่วไป พ.ศ.2566 ปัจจุบันยังปรากฏเป็นนโยบายอยู่บนเว็บไซต์ของพรรคผู้ถูกร้องทั้งสอง มีเนื้อหาที่จะแก้ไขทำนองเดียวกันกับร่างพระราชบัญญัติดังกล่าว

 

ถือได้ว่าผู้ถูกร้องทั้งสอง มีพฤติการณ์ที่ต้องการลดทอนการคุ้มครองสถาบันพระมหากษัตริย์ผ่านร่างพระราชบัญญัติ และอาศัยกระบวนการทางนิติบัญญัติสร้างความชอบธรรม ซ่อนเร้นด้วยวิธีการรัฐสภานอกจากนั้นผู้ถูกฟ้องทั้งสองยังมีพฤติการณ์รณรงค์หาเสียงทางการเมือง เพื่อเสนอแนวความคิด ความคิดเห็นดังกล่าวให้แก่ประชาชนทั่วไปผ่านรูปแบบนโยบายอย่างต่อเนื่อง

 

ศาลเห็นว่า ผู้ถูกร้องใช้นโยบายพรรคการเมืองโดยนำสถาบันพระมหากษัตริย์ลงมาเพื่อหวังผลคะแนนเสียงและประโยชน์ในการชนะการเลือกตั้ง มุ่งหมายให้สถาบันพระมหากษัตริย์อยู่ในฐานะคู่ขัดแย้งกับประชาชน ทำให้สถาบันพระมหากษัตริย์ต้องเข้าไปฝักฝ่ายต่อสู้แข่งขันรณรงค์ทางการเมือง เซาะกร่อน บ่อนทำลายสถาบันพระมหากษัตริย์นำไปสู่การล้มล้างการปกครองระบอบประชาธิปไตยอันมีพระมหากษัตริย์ทรงเป็นประมุข

 

นอกจากนี้ สมาชิกพรรคผู้ถูกร้องยังมีพฤติกรรม เป็นนายประกันให้ผู้ที่ต้องคดีมาตรา 112 ซึ่งหนึ่งในนั้นมีชื่อของนายชัยธวัช ตุลาธนด้วย และยังมีสมาชิกพฤติกรรมกระทำความผิดตามประมวลกฎหมายอาญามาตรา 112 หลายราย เช่น นายปิยะรัฐ จงเทพ นางสาวชลธิชา แจ้งเร็ว นางสาวรักชนก ศรีนอก ซึ่งถือเป็นกลุ่มการเมืองที่ต้องการแก้ไขกฎหมายคุ้มครองสถาบันพระมหากษัตริย์

 

ทั้งนี้ ผู้ถูกร้องที่ 1 (นายพิธา) ยังเคยปราศรัยว่า ‘พี่น้องประชาชนเสนอกฎหมายมาตรา 112 พรรคก้าวไกลจะสนับสนุน” แสดงให้เห็นถึงทัศนคติที่พร้อมสนับสนุนการยกเลิกประมวลกฎหมายอาญามาตรา 112 ทำให้บทบัญญัติในการคุ้มครองสถาบันพระมหากษัตริย์หมดสิ้น

 

ศาลรัฐธรรมนูญได้วางบรรทัดฐานเกี่ยวกับระบอบประชาธิปไตยอันมีพระมหากษัตริย์ทรงเป็นประมุขว่า พระมหากษัตริย์ทรงดำรงสถานะเป็นกลางทางการเมือง การกระทำใด ๆ ทั้งการส่งเสริมหรือทำลายให้สถาบันพระมหากษัตริย์ให้สูญเสียสถานะที่จะต้องอยู่เหนือการเมือง หรือดำรงความเป็นกลางทางการเมืองย่อมเป็นการเซาะกร่อน บ่อนทำลายเป็นเหตุให้ สถาบันพระมหากษัตริย์ชำรุด ทรุดโทรม เสื่อมทราม หรืออ่อนแอลง เข้าลักษณะล้มล้างการปกครองระบอบประชาธิปไตยอันมีพระมหากษัตริย์ทรงเป็นประมุข

 

ศาลวินิจฉัยว่าการกระทำของผู้ถูกร้องทั้งสองเป็นการใช้สิทธิและเสรีภาพเพื่อล้มล้างการปกครองระบอบประชาธิปไตยอันมีพระมหากษัตริย์ทรงเป็นประมุขตามประมมนูญมาตรา 49 วรรคหนึ่ง และสั่งการให้กลุ่มผู้ถูกร้องทั้งสองเลิกการกระทำ และเลิกการแสดงความคิดเห็นการพูด การเขียน การพิมพ์ การโฆษณา และการสื่อความหมายด้วยวิธีอื่นเพื่อให้มีการยกเลิกประมวลกฎหมายอาญามาตรา 112 และไม่ให้แก้ไขกฎหมายมาตรา 112 ด้วยวิธีการที่ไม่ใช่นิติบัญญัติที่จะเกิดขึ้นต่อไปในอนาคตด้วย

 

ศาลย้ำว่าคำวินิจฉัยของศาลรัฐธรรมนูญมีทั้งเห็นด้วยและไม่เห็นด้วย แต่ขอให้ตระหนักว่าการวิจารณ์ด้วยถ้อยคำหยาบคาย เสียดสี อาฆาตมาดร้าย จะมีความผิดฐานละเมิดอำนาจศาลตามพระราชบัญญัติประกอบรัฐธรรมนูญว่าด้วยวิธีพิจารณาศาลรัฐธรรมนูญพ.ศ. 2561 มาตรา 38 วรรคท้าย ซึ่งจะมีโทษทั้งตักเตือน จำคุก และปรับไม่เกิน 50,000 บาท

#ข่าวการเมือง
#SmartNews

ใส่ความเห็น

อีเมลของคุณจะไม่แสดงให้คนอื่นเห็น ช่องข้อมูลจำเป็นถูกทำเครื่องหมาย *

Next Post

SME D Bank มอบโปรแกรมพัฒนาจากหัวใจ ตลอดเดือนแห่งความรักหนุนเอสเอ็มอีถึงแหล่งทุน ลดภาระการเงิน ตลาดเติบโต ทันยุคดิจิทัล

SME D Bank มอบโปรแกรมพัฒนาจากหัวใจ ตลอดเดือนแห่งคว […]

You May Like

Subscribe US Now