“กรมประมง” เร่งกำจัดวงจรระบาด “ปลาหมอสีคางดำ” Kick Off 5 จังหวัด เผย “รมว.ธรรมนัส” สั่งเร่งแก้ปัญหา “พ่อค้าคนกลาง” กดราคาซื้อขายไม่เป็นธรรม พร้อมข่าวดี ครม.อนุมัติร่าง พ.ร.บ. ประมงฉบับใหม่มอบเป็น “ของขวัญ” ให้พี่น้องชาวประมง

“กรมประมง” เร่งกำจัดวงจรระบาด “ปลาหมอสีคางดำ” Kick Off 5 จังหวัด เผย “รมว.ธรรมนัส” สั่งเร่งแก้ปัญหา “พ่อค้าคนกลาง” กดราคาซื้อขายไม่เป็นธรรม พร้อมข่าวดี ครม.อนุมัติร่าง พ.ร.บ. ประมงฉบับใหม่มอบเป็น “ของขวัญ” ให้พี่น้องชาวประมง

 

 

วันที่ 2 ก.พ. 2567 ที่ วัดศรีสุทธาราม (วัดกำพร้า) ตำบลบางหญ้าแพรก อำเภอเมืองจังหวัดสมุทรสาคร ร.อ.ธรรมนัส พรหมเผ่า รัฐมนตรีว่าการกระทรวงเกษตรและสหกรณ์ เป็นประธานพิธี Kick Off กรมประมง เปิดปฏิบัติการแก้ไขปัญหาการแพร่ระบาดของปลาหมอสีคางดำ ที่ส่งผลกระทบต่อระบบนิเวศในแหล่งน้ำธรรมชาติ มอบธงสัญลักษณ์ และปล่อยขบวนเรือชาวประมงออกปฏิบัติการ 23 ลำในแม่น้ำท่าจีน และปล่อยพันธุ์ปลากระพงขาว 60,000 ตัวพร้อมกันในพื้นที่นำร่อง 5 จังหวัด

 

 

นายบัญชา สุขแก้ว อธิบดีกรมประมง เปิดเผยว่า การ Kick Off เปิดปฏิบัติการล่าปลาหมอสีคางดำ ว่า เป็นนโยบายของ ร.อ.ธรรมนัส พรหมเผ่า รัฐมนตรีว่าการกระทรวงเกษตรและสหกรณ์ เนื่องจากปัญหาการรุกรานของปลาหมอสีคางดำได้เพิ่มความรุนแรง โดยเฉพาะชาวประมงที่ได้รับผลกระทบจากการระบาดเข้าไปในบ่อเลี้ยงปลา ซึ่งกรมประมงมีมาตรการในการดำเนินการทั้งระยะเร่งด่วน ระยะกลาง และระยะยาว โดย มาตรการระยะเร่งด่วนได้สร้างการรับรู้ด้วยการ Kick Off ใน 5 จังหวัดที่มีการแพร่ระบาดอย่างรุนแรง โดยกรมประมงจะมีข้อมูลว่าในแต่ละพื้นที่ควรใช้เครื่องมืออะไรในการกำจัด เช่น ที่จังหวัดสมุทรสาคร พบว่า การใช้เครื่องมืออวนรุนชนิดพิเศษ สามารถกำจัดปลาชนิดนี้ได้ และจากการทดลอง พบว่า สามารถจับได้ถึง 100% ดังนั้น ร.อ.ธรรมนัส จึงได้ออกประกาศกระทรวงเกษตรฯ กำหนดยกเว้นข้อบังคับทั่วไป ให้สามารถใช้อวนรุนจับปลาได้ ภายใต้เงื่อนไขระยะเวลา 1 ปี และมอบให้กรรมการประมงประจำจังหวัด กำหนดพื้นที่ในการจับปลา ภายใต้การควบคุมกำกับของเจ้าหน้าที่ ที่ผู้ว่าราชการจังหวัดมอบหมาย ซึ่งหากการควบคุมในระยะ 1 ปีนี้ยังไม่สามารถลดอัตราการขยายพันธุ์ได้ (ในระดับที่ทางวิชาการประเมิน) ก็จะทำการขยายประกาศฉบับนี้ต่อไป เช่นเดียวกับอีก 4 จังหวัด ที่มีการ Kick Off ในวันนี้ ได้แก่ จังหวัดสมุทรสาคร สมุทรสงคราม สมุทรปราการ เพชรบุรี และกรุงเทพมหานคร

 

 

ส่วนมาตรการระยะกลาง นอกจากการปล่อยพันธุ์ปลากระพงขาวซึ่งเป็นปลานักล่าแล้ว ยังได้เร่งดำเนินการให้ครบทั้ง 13 จังหวัดที่พบการแพร่ระบาด ส่วนมาตรการระยะยาว จะต้องทำการควบคุมปลาชนิดนี้ ให้อยู่ในระดับที่ไม่มีผลกระทบ และที่สำคัญที่สุด คือการนำไปใช้ประโยชน์ เนื่องจากปลาหมอสีคางดำไม่ใช่สัตว์น้ำที่เป็นพิษ แต่สามารถนำมาใช้ประโยชน์ได้ทุกส่วนของร่างกาย เช่น ทำน้ำปลา ปลาส้ม ข้าวเกรียบ ไส้อั่ว เป็นต้น ดังนั้น จึงขอเชิญชวนให้พี่น้องชาวประมง รวมถึงพี่น้องเกษตรกรที่อยู่ริมน้ำ สามารถจับปลาชนิดนี้มาใช้ประโยชน์ ส่วนการต่อยอดในอนาคต ขณะนี้ได้คุยกับสมาคมปลาป่นในการผลิตปลาป่น และกรมพัฒนาที่ดิน เพื่อทำเป็นปุ๋ยหมักชีวภาพคุณภาพสูงจากสัตว์น้ำ

 

 

“ปลาหมอสีคางดำ สามารถผสมพันธุ์ได้ เมื่อมีอายุแค่ 3 เดือน ที่สำคัญจะผสมพันธ์ทุก 22 วัน โดยสามารถออกไข่ได้มากถึง 400-600 ฟอง ดังนั้น ในวัฏจักร เช่นนี้จึงเป็นการแย่งพื้นที่ แย่งอาหารชั้นต้นของสัตว์น้ำชนิดอื่น จนทำให้สัตว์น้ำประจำถิ่นถูกรุกราน ทำให้มีปริมาณเหลือน้อยลง” นายบัญชา กล่าว

 

นอกจากนี้ ร.อ.ธรรมนัส ยังได้ กำชับให้กรมประมงประสานพัฒนาที่ดิน เพื่อนำปลาหมอสีคางดำไปใช้เป็นปุ๋ยหมักเพื่อใช้ในการเกษตร รวมถึงการแก้ไขปัญหาการถูกกดราคาปลาหมอสีคางดำที่จับได้โดยพ่อค้าคนกลาง เบื้องต้น กรมประมงจะมีการประชุมในวันที่ 6 กุมภาพันธ์ 2567 กับสมาคมปลาป่น โดยจะหาผู้รับซื้อในพื้นที่ และกำหนดราคาซื้อขายที่เป็นธรรมกับชาวประมง

 

นายบัญชา ยังกล่าวถึงการมอบ หนังสือรับรองการจดทะเบียนเรือประมงพื้นบ้าน ซึ่งก่อนหน้านี้ได้รับการร้องเรียนจากชาวประมงพื้นบ้านที่ใช้เรือขนาดเล็ก ว่าไม่มีทะเบียนเรือ จึงไม่สามารถออกทำการประมงได้ เนื่องจากเกรงจะถูกจับกุมจากเจ้าหน้าที่และจะต้องเสียค่าปรับ ซึ่งเรือประมงขนาดเล็กเหล่านี้ใช้ทรัพยากรหนึ่งลำประมาณ 5-7 ตันต่อปี ดังนั้น ร.อ.ธรรมนัส จึงได้มอบหมายให้กรมประมงศึกษาข้อมูล จนพบว่า ทรัพยากรสัตว์น้ำมีเพียงพอสำหรับเรือประมงพื้นบ้านขนาดเล็กจำนวน 12,000 ลำ จึงนำเข้าสู่คณะกรรมการแก้ปัญหาประมงทะเล ที่มี ร.อ.ธรรมนัส เป็นประธานและเห็นชอบให้ดำเนินการออกประกาศยื่นขอหนังสือรับรองเพื่อจดทะเบียนเรือ ทั้งนี้ สิทธิประโยชน์ของผู้ที่จดทะเบียนเรือ คือ มีกรรมสิทธิ์เรือเป็นของตัวเอง รวมถึงโครงการของรัฐต่างๆ สามารถใช้ทะเบียนเรือในการค้ำประกันได้ และที่สำคัญเพื่อการทำประมงอย่างมีความสุขโดยไม่ต้องหวาดระแวงเจ้าหน้าที่ ทำให้ก่อเกิดรายได้ สามารถสร้างเศรษฐกิจหมุนเวียนไม่ต่ำกว่า 8 พันล้านบาท

 

นอกจากนี้ นายบัญชา ยังกล่าวถึง กรณีที่ ครม.ได้มีการอนุมัติรับร่าง พรบ. ประมงฉบับใหม่ ซึ่งเรื่องนี้ถือเป็นวิวัฒนาการที่สำคัญ เนื่องจากเดิมเป็นพระราชกำหนดการประมง โดยในสมัยนั้นออกมาในช่วงระยะเวลาจำเป็นเร่งด่วนฉุกเฉิน ไม่ผ่านสภาฯ ย่อมมีบางข้อที่ขาดความยืดหยุ่นและตรงกับบริบทของพี่น้องชาวประมง เมื่อระยะเวลาผ่านมาประมาณ 8 ปีตั้งแต่ปี 2558 จนถึงปัจจุบัน ได้พบข้อบางอย่างที่ขาดความสอดคล้องกับพี่น้องชาวประมงหลายประการ ทางคณะกรรมาธิการศึกษาสภาพปัญหาชาวประมง และสมาชิกสภาผู้แทนจึงนำร่าง พรบ. ประมงฉบับแก้ไขมาศึกษาร่วมกับคณะ ซึ่งประกอบไปด้วย ประมงพาณิชย์ ประมงพื้นบ้าน ประมงนอกน่านน้ำ และ คณาจารย์ จนพบว่ามีประเด็นที่ต้องแก้ไขประมาณ 34 ประเด็น 39 มาตรา แต่ยืนยันว่า การแก้ไขครั้งนี้ไม่ได้ทำให้ประสิทธิภาพในการแก้ไขปัญหาเรื่องประมงผิดกฎหมายขาดการบริหารและไร้การควบคุมลดลง แต่มีประโยชน์กับพี่น้องชาวประมง ซึ่งขณะนี้ ครม.ได้เห็นชอบกฎหมายฉบับนี้เมื่อวันที่ 30 ธ.ค. 2567 ถือเป็นของขวัญของรัฐบาล และ รัฐมนตรีว่าการกระทรวงเกษตรฯ ที่มอบให้กับพี่น้องชาวประมง

#SmartNews

ใส่ความเห็น

อีเมลของคุณจะไม่แสดงให้คนอื่นเห็น ช่องข้อมูลจำเป็นถูกทำเครื่องหมาย *

Next Post

"วรางคณา" ขึ้นแท่นรับตำแหน่งประธาน ช.ส.ท.อย่างเป็นเอกฉันท์ ในการประชุมใหญ่วิสามัญ 2567

“วรางคณา” ขึ้นแท่นรับตำแหน่งประธาน ช.ส […]

You May Like

Subscribe US Now