“ธรรมนัส” นำแถลงคืบหน้าปราบปราม “สินค้าเกษตรเถื่อน” ดำเนินคดี 3 บริษัทใหญ่ ปลอมเอกสารนำเข้าหมู – วัวเถื่อน น้ำหนักรวมกว่า 5.9 ล้าน กก. มูลค่าเสียหายกว่า 1.4 พันล้านบาท พร้อมขยายผลตรวจสอบพบอีก 5 บริษัท จากคดี 161 ตู้ เดิม จ่อดำเนินคดีเพิ่มอีกกว่า 400 คดี ชี้สร้างความเสียหายภาคการเกษตรไม่ต่ำกว่า 3-4 พันล้านบาท หรืออาจถึง 10,000 ล้านบาท ลั่นปราบปรามขั้นเด็ดขาดไม่มีละเว้น
วันที่ 25 มีนาคม 2567 ที่อาคารรัฐสภา ร.อ.ธรรมนัส พรหมเผ่า รัฐมนตรีว่าการกระทรวงเกษตรและสหกรณ์ พร้อมด้วย พล.ต.ต. เอกรักษ์ ลิ้มสังกาศ รองเลขาธิการคณะกรรมการป้องกันและปราบปรามการฟอกเงิน (ปปง.) พันเอก รวิรักษ์ สัตตบุสย์ ผู้บังคับหน่วยเฉพาะกิจพญานาคราช นายบัญชา สุขแก้ว อธิบดีกรมประมง นายสมชวน รัตนมังคลานนท์ อธิบดีกรมปศุสัตว์ พล.ต.ต. วิทยา ศรีประเสริฐภาพ ผู้บังคับการกองบังคับการปราบปรามการกระทำความผิดเกี่ยวกับการคุ้มครองผู้บริโภค ร่วมแถลงข่าว ผลการดำเนินงานของหน่วยเฉพาะกิจพญานาคราช หรือ ฉก.พญานาคราช ร่วมกับหน่วยงานที่เกี่ยวข้องเกี่ยวกับการปราบปรามสินค้าเกษตรผิดกฎหมายที่ส่งผลกระทบต่อเกษตรกร
ร.อ.ธรรมนัส กล่าวว่า ตามที่กระทรวงเกษตรและสหกรณ์ ได้ประกาศสงครามปราบปรามสินค้าเกษตรผิดกฎหมายที่ส่งผลกระทบต่อเกษตรกรและเศรษฐกิจในภาพรวมของประเทศเป็นอย่างมาก ซึ่งสินค้าหลายประเภทที่เรามีการปราบปราบอย่างจริงจัง ทำให้ราคาพืชผลการเกษตรยกฐานะดีดตัวดีขึ้น เช่น ราคายางพาราที่ปรับตัวดีขึ้น เห็นผลเป็นที่ประจักษ์ในขณะนี้ แต่ยังมีสินค้าประมงและปศุสัตว์ที่ยังน่าเป็นห่วง ตนเองจึงได้แต่งตั้ง “หน่วยเฉพาะกิจพญานาคราช” (ฉก.พญานาคราช) ขึ้นมาเพื่อขับเคลื่อนนโยบายปราบปรามการลักลอบนำเข้าสินค้าเกษตรผิดกฎหมาย ทั้งสินค้าพืช ประมง และปศุสัตว์ ให้เป็นไปอย่างมีประสิทธิภาพ
ที่ผ่านมา “ฉก.พญานาคราช” ได้ดำเนินการอย่างจริงจังและเห็นผลเป็นรูปธรรมมาอย่างต่อเนื่อง ตั้งแต่การลงพื้นที่สุ่มตรวจตู้คอนเทนเนอร์ ณ ท่าเรือแหลมฉบัง จังหวัดชลบุรี เมื่อวันที่ 6 ธ.ค. 2566 พบการซุกช่อนชิ้นส่วนสุกร ปะปนอยู่ภายในตู้สินค้าประมง จากนั้นเมื่อวันที่ 18 ม.ค. 2567 ได้มีการตั้ง War Room โดยผู้เชี่ยวชาญจากกรมประมงและกรมปศุสัตว์ ร่วมกันตรวจสอบเอกสารประกอบการนำเข้าสัตว์น้ำของกรมประมง พบเอกสารที่มีการปลอมแปลง ได้ดำเนินการแจ้งความต่อกรมสอบสวนกลางแล้ว 20 คดี
ล่าสุด เมื่อวันที่ 14 มี.ค. ที่ผ่านมา ฉก.พญานาคราช ได้แจ้งความต่อผู้บัญชาการตำรวจสอบสวนกลาง จำนวน 1 ราย 220 คดี ซึ่งถือว่าสำคัญ เพราะเป็นกรณีการปลอมแปลงเอกสารเพื่อใช้ประกอบการขออนุญาตนำเข้าสินค้าสัตว์น้ำต่อกรมประมง
“การยื่นดำเนินคดีในครั้งนี้ พบความผิดปกติจากการตรวจสอบเอกสารย้อนหลังตั้งแต่ปี 2564 – 2566 มีบริษัทที่ยื่นคำขอนำเข้าหัวปลาแซลมอน และปลาจวด แต่สินค้าที่นำเข้าจริง กลับไม่ตรงตามใบรับรองสุขอนามัยสัตว์ (Health Certificate) ที่ผู้นำเข้ายื่นขออนุญาต โดยปรากฎเป็นเนื้อหมู 1,859,270 กิโลกรัม /เนื้อวัว 4,135,306 กิโลกรัม จำนวน 220 ตู้คอนเทนเนอร์ รวมน้ำหนักสินค้าทั้งสิ้น 5,994,576 กิโลกรัม มูลค่าสร้างความเสียหาย 1,407,187,712 ล้านบาท ถือว่าเป็นเรื่องใหญ่สร้างความเสียหายภาคการเกษตร นอกจากนั้น ยังให้ผู้แทนจากกระทรวงเกษตรไปยื่นดำเนินคดีกับ 3 บริษัท และเบื้องต้นพบว่า มีการปลอมแปลงเอกสารเพิ่มเป็นสองเท่า สร้างความเสียหายประมาณ สามพันล้าน สิ่งเหล่านี้เป็นการทำลายภาคการเกษตรทำให้พี่น้องเกษตรกรทั้งผู้เลี้ยงโค สุกร ได้รับผลกระทั้งสิ้น ซึ่งได้มอบเอกสารหลักฐานทั้งหมดให้กับกองบัญชาการตำรวจสอบสวนกลาง มีการออกหมายเรียกผู้ต้องหามารับทราบข้อกล่าวหาเป็นที่เรียบร้อยแล้ว และกำลังเข้าสู่กระบวนการดำเนินคดี
“วันนี้ กระทรวงเกษตรฯ จึงได้มานำเสนอความคืบหน้าต่อสื่อมวลชน เพื่อให้หน่วยงานเกี่ยวข้องทั้งกรมประมง ปปง. ฉก.พญานาคราช กรมปศุสัตว์ มาร่วมแถลงรายละเอียดให้พี่น้องประชาชนได้รับทราบ และยืนยันว่า กระทรวงเกษตรฯ พร้อมเดินหน้าปราบปรามสินค้าเกษตรเถื่อน เพื่อแก้ปัญหาของพี่น้องเกษตรกรในทุกมิติ ไม่ว่าจะเป็นเรื่องอะไรก็ตาม เพื่อแก้ปัญหาความเดือดร้อนและแก้ปัญหาให้เกษตรกร มุ่งขับเคลื่อนภาคการเกษตรไทยทั้งระบบ รวมถึงเศรษฐกิจของประเทศให้เดินหน้าได้อย่างมั่นคง เกษตรกรมีรายได้อย่างยั่งยืนต่อไป” ร.อ.ธรรมนัส กล่าว
ด้านนายบัญชา สุขแก้ว อธิบดีกรมประมง กล่าวเสริมว่า ในส่วนของกรมประมง ได้ดำเนินการมาเป็นระยะตามลำดับ ดังนี้ 1.ตั้งศูนย์ปฏิบัติการต่อต้านการนำเข้า – ส่งออก สินค้าประมงผิดกฎหมายจัดตั้งขึ้นเมื่อ 1 ก.พ. 2567 เพื่อให้การแก้ไขและป้องกันปัญหาการนำเข้า – ส่งออกสินค้าประมงผิดกฎหมายเป็นไปด้วยความรวดเร็วและมีประสิทธิภาพ ประกอบด้วยเจ้าหน้าที่ ที่มีความชำนาญด้านกฎหมาย และการตรวจสอบเอกสารจากหลายหน่วยงานของกรมประมง และได้รับความอนุเคราะห์จากเจ้าหน้าที่ของกรมปศุสัตว์ สำนักงาน ปปง. และหน่วย ฉก.พญานาคราช ร่วมบูรณาการ
2. ที่ผ่านมาหน่วย ฉก.พญานาคราชได้ทำการตรวจสอบเอกสารประกอบการนำเข้าทางด่านตรวจประมงชลบุรี (ท่าเรือแหลมฉบัง) ในระหว่างปี 2564 – 2566 พบบริษัทกลุ่มเสี่ยง จำนวน 3 บริษัท และกรมประมงได้ดำเนินคดีไปแล้วเมื่อวันที่ 1 ก.พ. 2567 จำนวน 20 คดีได้แก่ 1. บริษัทศิขัณทิน เทรดดิ้ง จำกัด 9 คดี 2. บริษัทสมายล์ ท็อป เค เอ็นเตอร์ไพรส์ จำกัด 9 คดี และ 3. ห้างหุ้นส่วนจำกัด บริบูรณ์ เทรดดิ้ง 2 คดี โดยสิ่งที่พบความผิดปกติ ณ วันนี้ คือบริษัท ศิขัณทิน เทรดดิ้ง จำกัด มีการ ใช้ใบรับรองสุขอนามัยสัตว์บกที่หน่วยงานผู้รับรองประเทศต้นทางออกให้มาปลอมแปลงข้อมูลบางส่วนให้เป็นใบรับรองสุขภาพสัตว์น้ำ และนำมาใช้ประกอบการยื่นขออนุญาตนำเข้าต่อด่านตรวจประมงชลบุรี โดยมีการเปลี่ยนแปลงข้อมูลใบรับรอง เช่น ปลอมแปลงรายการสินค้าหมู หรือวัว เป็นปลาจวดแช่แข็ง มีการเปลี่ยนแปลงพิกัดจากหมูหรือวัวแช่แข็ง เป็นพิกัด ปลาแช่แข็ง ซึ่งก่อนแจ้งความดำเนินคดี เราได้ตรวจสอบ ยืนยัน ไปยังประเทศบราซิลซึ่งเป็นประเทศต้นทางแล้ว ผ่านกระทรวงการต่างประเทศ ได้รับการยืนยันอย่างเป็นทางการจากสถานทูตบราซิลประจำประเทศไทยว่า ใบรับรองที่บริษัทดังกล่าวยื่นประกอบขออนุญาตนำเข้าสัตว์น้ำนั้นไม่ได้ออกโดยหน่วยงานผู้รับผิดชอบของบราซิล และเป็นเอกสารปลอม
กรมประมงจึงได้มอบหมายให้เจ้าหน้าที่ศูนย์ฯ ดำเนินการร้องทุกข์กล่าวโทษต่อพนักงานสอบสวน กองบัญชาการสอบสวนกลาง ให้ดำเนินคดีกับผู้ต้องหาใน 4 ข้อกล่าวหาดังนี้ ความผิดตาม ป.อาญา ฐานปลอมแปลงเอกสาร ตามมาตรา 264 ฐานใช้เอกสารปลอมตามมาตรา268 ฐานแจ้งข้อความอันเป็นเท็จแก่พนักงานเจ้าหน้าที่ตามมาตรา 137 และความผิดตาม พ.ร.บ.ว่าด้วยการกระทำความผิดเกี่ยวกับคอมพิวเตอร์ พ.ศ. 2550 ฐานนำเข้าสู่ระบบคอมพิวเตอร์ซึ่งข้อมูลอันเป็นเท็จตามมาตรา 14 (1) และ (2) รวมจำนวนทั้งสิ้น 220 คดี ทั้งนี้ กรมประมงยังจะดำเนินการตรวจสอบเพิ่มเติม หากตรวจพบพฤติกรรมลักษณะดังกล่าวอีกก็จะดำเนินคดีเช่นเดียวกันต่อไป
ขณะที่ พล.ต.ต.วิทยา ศรีประเสริฐภาพ ผบก.ปคบ. ตำรวจสอบสวนกลาง กล่าวว่า เบื้องต้นได้มีการออกหมายเรียกบริษัทดังกล่าวไปแล้ว 1 ครั้ง เนื่องจากอาจเข้าข่ายเพื่อหลีกเลี่ยงภาษี ซึ่งทางบริษัทแจ้งว่าขอขยายเวลาเข้ามาพบเนื่องจากมีเอกสารที่เกี่ยวข้องจำนวนมากที่ต้องนำมาชี้แจง ยืนยันว่าเราจะร่วมกับกระทรวงเกษตรฯ กรมประมง กรมปศุสัตว์ ในการสืบสวนขยายผลไปยังกลุ่มนายทุนที่อยู่เบื้องหลังต่อไป โดยไม่มีละเว้น
ด้าน พล.ต.ต.เอกรัตน์ ลิ้มสังกาศ รองเลขาธิการคณะกรรมการป้องกันและปราบปรามการฟอกเงิน (ป.ป.ง.) กล่าวว่าการกระทำผิดของบริษัทเอกชน นอกจากการดำเนินคดีอาญา ที่มีการแถลงไปแล้วอีกส่วนหนึ่งคือ ความผิดมูลฐานข้อมูลทางการเงินและการกระทำความผิดมูลฐาน ป.ป.ง.จะไปดำเนินการทางแพ่งต่อ ทุกคดี
ร.อ.ธรรมนัส กล่าวเพิ่มเติมว่า นอกจากการดำเนินคดีกับบริษัทดังกล่าวแล้ว ยังมีคดีที่ทาง ดีเอสไอ กำลังทำการตรวจสอบเพิ่มเติมอีกประมาณ 5 บริษัท ซึ่งเป็นผลสืบเนื่องจากคดีผู้นำเข้า 161 ตู้ และมีการขยายผล ตรวจสอบและพบหลักฐานที่จะดำเนินคดีเพิ่มอีกกว่า 220 คดี และ ณ วันนี้ ตรวจสอบเบื้องต้นก็จะเพิ่มอีกเป็น 400 คดี สร้างความเสียหายที่เกิดขึ้นกับภาคการเกษตรไม่ต่ำกว่า 3-4 พันล้านบาท หรืออาจจะถึง 10,000 ล้านบาท ซึ่งตอนนี้อยู่ในขั้นตอนที่เราจะขยายผลต่อไป และอยากให้กองบังคับการปราบปรามการกระทำความผิดเกี่ยวกับการคุ้มครองผู้บริโภค รับผิดชอบเรื่องนี้ไปด้วย หากเกี่ยวข้องกับคดีเก่าก็จะประสานไปยัง ดีเอสไอ ต่อไป เพื่อช่วยกันทำงานแก้ปัญหาของพี่น้องเกษตรกร
#ธรรมนัสพรหมเผ่า #รัฐมนตรีว่าการกระทรวงเกษตรและสหกรณ์ #หน่วยเฉพาะกิจพญานาคราช
#การปราบปรามสินค้าเกษตรผิดกฎหมาย #ข่าวการเมือง #SmartNews